อิทธิพลของวันปลูก การพ่นสารเมบิควอทคลอไรด์ก่อนการเก็บเกี่ยว และการทำพัลชิ่งต่อคุณภาพดอกเบญจมาศ
ลักษณา ขันธวิไชย
วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2533, 79 หน้า.
2533
บทคัดย่อ
อิทธิพลของวันปลูก การพ่นสารเมปิควอทคลอไรด์ก่อนการเก็บเกี่ยว
และการทำพัลชิ่งต่อคุณภาพดอกเบญจมาศ
การศึกษาอิทธิพลของวันปลูกที่เหมาะสมของเบญจมาศ
5 พันธุ์ ได้แก่ ขาวเกษตร โกลเดน เมโฟ เดคโตขาว แคมเบรีย และเดคโคเหลือง โดยปลูก 4
ครั้ง ห่างกันครั้งละ 15 วัน เริ่มปลูกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2531
เพื่อผลิตเบญจมาศเป็นไม้ตัดดอกแบบต้นเดียว ดอกเดียว (single stem) ในโรงเรือนตาข่ายสีฟ้า ความถี่ 20 ตา/นิ้ว ณ แปลงทดลอง 2 ภาควิชาพืชสวน
คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ให้แสงไฟจากหลอด incandescent
100 วัตต์ ตั้งแต่เริ่มปลูกระหว่างเวลา 17.30-21.00 น. เป็นเวลา 1
เดือน ให้ปุ๋ย 3 ระยะ โดยในระยะ 30 วันแรกของการเจริญเติบโตให้ปุ๋ยแคลเซียมไนเตรท
(15-0-0) ร่วมกับปุ๋ยเกล็ดเชลล์ (15-30-15) และธาตุอาหารเสริมดีส ระยะที่ 2
หลังปลูก 31-60 วัน ให้ปุ๋ยสูตร 10-52-17 ร่วมกับธาตุอาหารเสริมดีส และระยะสุดท้ายคือ
ก่อนตัดดอก 10 วัน ให้ปุ๋ยสูตร
13-0-46 แบ่งส่วนหนึ่งของเบญจมาศทุกพันธุ์สำหรับพ่นสารเมปิควอทคลอไรด์ 50 ppm
ติดต่อกัน 4 ครั้งก่อนตัดดอกประมาณ 7วัน ผลการทดลองปรากฏว่า
วันปลูกมีผลต่อการเจริญเติบโต การออกดอก และการพัฒนาตาดอก ตลอดจนคุณภาพของดอกเบญจมาศ
โดยเบญจมาศทุกพันธุ์ที่ปลูกในวันที่ 10 กันยายน มีคุณภาพดอกดีที่สุด
กล่าวคือมีเส้นผ่าศูนย์กลางดอกใหญ่ที่สุด และมีน้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งสูงสุด
เบญจมาศที่ปลูกเมื่อวันที่ 10 และ 25 สิงหาคม
ใช้เวลาในการออกดอกนานกว่าปลูกในวันที่ 10 กันยายน ส่วนเบญจมาศที่ปลูกเมื่อวันที่
25 กันยายน ออกดอกเร็วกว่า แต่ใช้เวลาในการพัฒนาตาดอกนานกว่าวันปลูกอื่น ๆ
และนอกจากนี้ยังมีน้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งน้อยที่สุดอีกด้วย
จากการศึกษาอายุการปักแจกันพบว่า
การใช้สารเมปิควอทคลอไรด์เข้มข้น 50 ppm พ่นก่อนการเก็บเกี่ยวติดต่อกัน
4 ครั้ง แล้วนำไปพัลชิ่งในสารละลายซูโครส 5% ร่วมกับไฟแซน-20 เข้มข้น 200
ppm 12 และ 18 ชั่วโมงก่อนปักแจกัน
สามารถช่วยยืดอายุการใช้งานได้นานขึ้น