บทคัดย่องานวิจัย

เทคนิคการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อกำจัดเพลี้ยไฟในกล้วยไม้ตัดดอกเพื่อการส่งออก

วลัยกร วรวิศิษฎ์ธำรง

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขากีฏวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2532. 80 หน้า.

2532

บทคัดย่อ

เทคนิคการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อกำจัดเพลี้ยไฟในกล้วยไม้ตัดดอกเพื่อการส่งออก การศึกษาการกระจายของเพลี้ยไฟกล้วยไม้ 2 ชนิด คือ Dichromothrips corbetti Priesner และ Thripus palmi Karny ในรอบปีระหว่างเดือน มกราคม 2529- มกราคม 2530 ที่สวนกล้วยไม้ซึ่งผลิตเพื่อการส่งออก เขตภาษีเจริญ ตลิ่งชัน และสามพราน พบว่า การระบาดของเพลี้ยไฟมีมากในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน โดยเฉพาะเดือนเมษายนมีการระบาดสูงสุด การศึกษาอัตราของสารรมไฮโดรเจนไซยาไนด์เพื่อกำจัดเพลี้ยไฟกล้วยไม้ พบว่า ไฮโดรเจนไซยาไนด์ทุกอัตราสามารถกำจัดเพลี้ยไฟได้ทั้งระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย แต่เมื่อรมที่อัตราสูง ๆ ทำให้อายุการปักแจกันของหวายปอมปาดัวร์และอินทุวงศ์สั้นเพียง 1.67 วัน อัตราที่เหมาะสมในการทดลองนี้ คือ โซเดียมไซยาไนด์ 80 กรัม + กรดซัลฟูริคเข้มข้น 200 มิลลิลิตร + น้ำ 180 มิลลิลิตร และกล้วยไม้หวายปอมปาดัวร์และอินทุวงศ์มีอายุการปักแจกันเท่ากัน 6.33 วัน ในตัวเปรียบเทียบ 7.33 และ 8.33 วัน ตามลำดับ การศึกษาประสิทธิภาพของสารฆ่าแมลงบางชนิดในการกำจัดเพลี้ยไฟกล้วยไม้ด้วยวิธีการจุ่มดอก พบว่า สารฆ่าแมลง promecarb 30% อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร, W.P.carbosulfan 21.6% w/w E.C.อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และ  endosulfan 35% w/v E.C. อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ผลดีในการกำจัดเพลี้ยไฟกล้วยไม้ และกล้วยไม้หวายปอมปาดัวร์ที่จุ่มในสารฆ่าแมลงดังกล่าวมีอายุการปักแจกัน 5.56 วัน, 5.78 วัน และ 4.89 วัน ตามลำดับ ส่วนตัวเปรียบเทียบมีอายุการปักแจกัน 8.78 วัน