บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการสังเคราะห์เอทิลีนและการควบคุมการสร้างเอทิลีนที่มีต่ออายุการปักแจกันของดอกกล้วยไม้สกุลหวาย

ฟองจันทร์ ธรรมพิทักษ์กร

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 70 หน้า

2536

บทคัดย่อ

ผลของการสังเคราะห์เอทิลีนและการควบคุมการสร้างเอทิลีนที่มีต่ออายุการปักแจกันของดอกกล้วยไม้สกุลหวาย การศึกษาการสร้างเอทิลีนของดอกกล้วยไม้สกุลหวายพบว่าช่อดอกตูมของกล้วยไม้สกุลหวายลูกผสม 6 พันธุ์ คือ Dendrobium Pompadour, Dendrobium Sonia ‘Bom# 28’, Dendrobium Caesar 2N, Dendrobium Sabin, Dendrobium Walter Oumae ‘Taba’ 2N และ 4N มีอัตราการสร้างเอทิลีนมากกว่าช่อดอกบาน เมื่อศึกษาดอกแต่ละดอกของ Dendrobium Pompadour และ Dendrobium Sonia ‘Bom# 28’ พบว่าการสร้างเอทิลีนของดอกตูม ดอกแย้ม และดอกบาน มีลักษณะเช่นเดียวกับดอกทั้งช่อ และเมื่อวัดปริมาณ 1-aminocyclopropane-1-carboxylic acid (ACC) พบว่า ดอกตูมมีปริมาณ ACC สูงที่สุด รองลงมาคือ ดอกแย้ม และดอกบาน ตามลำดับ เมื่อวัดอัตราการสร้างเอทิลีนของส่วนต่าง ๆ ของดอก พบว่า Dendrobium Pompadour นั้นส่วนของ column มีอัตราการสร้างเอทิลีนและปริมาณ ACC มากที่สุด ส่วน Dendrobium Sonia ‘Bom# 28’ นั้นส่วนของ pedicel มีอัตราการสร้างเอทิลีนและปริมาณ ACC มากที่สุด และดอกบานของกล้วยไม้ทั้ง 2 พันธุ์ ที่ได้รับการผสมเกสร มีอัตราการสร้างเอทิลีนเพิ่มขึ้นมากกว่าดอกที่ดึงเอาก้อนเรณูและฝาครอบออก

เมื่อดอกตูม ดอกแย้ม และดอกบานของ Dendrobium Pompadour ได้รับ ACC 0.5 mM พบว่า มีอัตราการสร้างเอทิลีนเพิ่มขึ้นมาก โดยดอกแย้มมีอัตราการสร้างเอทิลีนมากที่สุด รองลงมาคือ ดอกบาน และดอกตูม ตามลำดับ โดยอายุการปักแจกันของดอกบานลดลงมากกว่าดอกตูมหลังการได้รับ ACC

เมื่อดอกบานของ Dendrobium Pompadour ได้รับสารยับยั้งการสร้างเอทิลีน ได้แก่ AOA, CoCl2 และ AgNO3 0.25 0.5 และ 1.0 mM ร่วมหรือไม่ร่วมกับ 8-hydroxyquinoline sulphate (HQS) 225 มก./ลิตร และ glucose 4% (Glaxo)พบว่า ไม่สามารถยับยั้งการสร้างเอทิลีนได้แต่สามารถยืดอายุการปักแจกันเพิ่มขึ้นได้เมื่อมี HQS 225 มก./ลิตร และ glucose 4% อยู่ด้วย การฉีดพ่น AgNO3 2.5 และ 5 มก./ลิตร ก่อนปักแจกันในน้ำกลั่นไม่สามารถยับยั้งการสร้างเอทิลีนและไม่สามารถยืดอายุการปักแจกันของดอกบานได้ ดอกบานที่มีก้านช่อดอก (peduncle) ติดอยู่ด้วย ทั้งที่ไม่ได้รับและได้รับ AgNO3 0.25 0.5 และ 1.0 mM ร่วมกับ HQS 225 มก./ลิตร และ glucose 4% มีอายุการปักแจกันนานกว่าดอกบานที่ไม่มีก้านช่อดอกติดอยู่ด้วย แม้ว่าการสร้างเอทิลีนจะไม่ลดลง แต่ AgNO3 0.25 มก./ลิตร ร่วมกับ HQS 225 มก./ลิตร และ glucose 4% สามารถลดจำนวนประชากรจุลินทรีย์ในสารละลายที่ใช้ปักแจกัน และสามารถยืดอายุการปักแจกันของดอกกล้วยไม้ได้