บทคัดย่องานวิจัย

อิทธิพลของอุณหภูมิและระยะความแก่ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีระหว่างการเก็บรักษาผลเงาะ (Nephelium lappaceum Linn.) พันธุ์สีชมพูและพันธุ์โรงเรียน

ยศวดี สมบูรณ์

วิทยานิพนธ์, วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2527. 64 หน้า.

2527

บทคัดย่อ

อิทธิพลของอุณหภูมิและระยะความแก่ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีระหว่างการเก็บรักษาผลเงาะ (Nephelium lappaceum Linn.) พันธุ์สีชมพูและพันธุ์โรงเรียน การศึกษาอิทธิพลของอุณหภูมิและอายุความแก่ของผลต่อการเปลี่ยนแปลงของผลเงาะ (Nephelium lappaceum Linn.) พันธุ์สีชมพูและพันธุ์โรงเรียน โดยนำผลเงาะทั้ง 2 พันธุ์มาจากสถานีทดลองพืชสวนพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ และสวนที่อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี มาทำการศึกษาและวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการพืชสวนหลังการเก็บเกี่ยว ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2525 โดยทำการเก็บรักษาผลเงาะทั้ง 2 พันธุ์ ที่มีอายุหลังจากผลเริ่มเปลี่ยนสีแล้ว 13, 16, 19, 22, 25 และ 28 วัน ไว้ที่อุณหภูมิ 5o, 10 o และ 15 oซ.

ที่อุณหภูมิ 10 oซ. ผลเงาะทั้ง 2 พันธุ์ยังคงมีสภาพภายนอกเหมาะต่อการซื้อขายได้นานที่สุดถึง 9 วัน ในขณะที่ผลเงาะที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 5 oซ. เกิดอาการ chilling injury หลังจากเก็บรักษาไว้ 3 วัน ทำให้สภาพภายนอกไม่เหมาะต่อการบริโภค ผลเงาะทั้ง 2 พันธุ์ทุกระดับอายุหลังจากผลเริ่มเปลี่ยนสี และทุกอุณหภูมิการเก็บรักษามีการเน่าเสียตั้งแต่ 0-100% และ การสูญเสียน้ำหนักจาก 0.0 – 0.3% โดยเพิ่มขึ้นตามจำนวนวันที่เก็บรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อุณหภูมิ 15 oซ. มีการเน่าเสียและการสูญเสียน้ำหนักมากที่สุด ปริมาณ soluble solids ของผลเงาะทั้ง 2 พันธุ์มีค่าเพิ่มขึ้น (12.78-20.35%) เมื่อผลมีอายุหลังจากเริ่มเปลี่ยนสีมากขึ้น และในวันที่ 9 ของการเก็บรักษา อุณหภูมิ 10 oซ. มีผลกระทบต่อปริมาณ soluble solids ของผลเงาะพันธุ์สีชมพู ทำให้มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ 17.92% ในขณะที่ 5 oซ. ทำให้ปริมาณ soluble solids ของผลเงาะพันธุ์โรงเรียนมีค่าเฉลี่ยมากที่สุดเท่ากับ 20.60% ส่วนปริมาณกรดในน้ำคั้นนั้นผลเงาะทั้ง 2 พันธุ์ที่มีอายุหลังจากผลเริ่มเปลี่ยนสี 19 วัน เมื่อเก็บรักษาไว้ 9 วัน มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด เท่ากับ 3.1 และ 3.05 meq. ตามลำดับ และที่อุณหภูมิ 10 oซ. ปริมาณกรดในน้ำคั้นของผลเงาะพันธุ์สีชมพูมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ 3.07 meq.ในขณะที่อุณหภูมิไม่มีผลกระทบต่อปริมาณกรดในน้ำคั้นของผลเงาะพันธุ์โรงเรียน ผลเงาะพันธุ์สีชมพูที่มีอายุหลังจากผลเริ่มเปลี่ยนสี 19 และ 22 วัน กับผลเงาะพันธุ์โรงเรียนที่มีอายุหลังจากผลเริ่มเปลี่ยนสี 19, 19 และ 22 วัน ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 10 oซ. มีรสชาติอยู่ในระดับความชอบถึงความชอบมากที่สุดของผู้บริโภค โดยมีอัตราส่วน soluble solids/titratable acid สูง ทำให้ผลเงาะมีรสหวานเหมาะต่อการบริโภคและซื้อขาย

สำหรับปริมาณคลอโรฟิลล์ที่สกัดได้จากเปลือกและขนของผลเงาะ พบว่า ปริมาณคลอโรฟิลล์ที่ได้จากเปลือกของผลเงาะพันธุ์สีชมพูมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุของผลหลังจากเริ่มเปลี่ยนสี คือ จาก 0.037 ถึง 0.062 มิลลิกรัม/กรัมน้ำหนักสด ในขณะที่ปริมาณคลอโรฟิลล์จากขนลดลงจาด 0.428 ถึง 0.225 มิลลิกรัม/กรัมน้ำหนักสด ส่วนผลเงาะพันธุ์โรงเรียนนั้นปริมาณคลอโรฟิลล์ที่ได้จากเปลือกและขนมีแนวโน้มลดลงตามอายุหลังจากผลเริ่มเปลี่ยนสี คือ จาก 0.067 ถึง 0.058 และ จาก 0.540 ถึง 0.442 มิลลิกรัม/กรัมน้ำหนักสด ซึ่งปริมาณคลอโรฟิลล์ที่สกัดได้จากเปลือกและขนของผลเงาะพันธุ์สีชมพูไม่มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาของสีพื้นของผิวเปลือกและขน ส่วนผลเงาะพันธุ์โรงเรียนมีแนวโน้มว่าจะมีความสัมพันธ์กันในเรื่องดังกล่าว