บทคัดย่องานวิจัย

การเร่งและชลอการสุกของผลมะม่วงพันธุ์อกร่องทอง

เรณู ขำเลิศ

วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (เกษตรศาสตร์)) สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2527. 73 หน้า.

2527

บทคัดย่อ

การเร่งและชลอการสุกของผลมะม่วงพันธุ์อกร่องทอง การศึกษาการสุกของผลมะม่วงพันธุ์อกร่องทองซึ่งได้จากสวนในจังหวัดนครสวรรค์แล้วนำมาดำเนินการ ณ ห้องปฏิบัติการพืชสวนหลังเก็บเกี่ยว ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2524 ถึงพฤษภาคม 2525 และทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงความแน่นเนื้อ soluble solids (SS) ปริมาณกรดในน้ำคั้น การเปลี่ยนแปลงสีเปลือก สีเนื้อ และรสชาติ หลังจากบ่มด้วย CaC2 ก๊าซ C2H4 หรือ C2H2  ที่มีความเข้มข้นต่าง ๆ กันเป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วนำไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง (29.7oซ. และ 88.9% RH) ผลมะม่วงทั้งหมดที่บ่มด้วยสารต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงการสุกได้ดีกว่า  control พวกที่บ่มด้วยก๊าซ C2H4 ความเข้มข้น 200 ppm มีแนวโน้มที่ทำให้เกิดการสุกได้ดีที่สุดในวันที่ 4 หลังจากนำผลออกจากถุงบ่ม โดยมีการเปลี่ยนแปลงความแน่นเนื้อจาก 1.5 เป็น 0.8 กก./ตร.ซม. ปริมาณ SS เพิ่มขึ้นจาก 10.5 เป็น 17.0% ส่วนปริมาณกรดในน้ำคั้นคำนวณเทียบเป็นกรดซิตริกลดลงจาก 0.9 เหลือ 0.2% การเปลี่ยนแปลงสีเปลือกนั้นเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองอมเขียวเล็กน้อย โดยมีคะแนนเปลี่ยนแปลงจาก 1.0 เป็น 4.3 (1= เขียว, 5 = เหลืองล้วน) และมีการเปลี่ยนแปลงสีเนื้อจากสีขาวเป็นสีเหลือง โดยมีคะแนนเปลี่ยนแปลงจาก 1.0 เป็น 4.3 (1 = ขาว, 5= เหลืองเข้ม) นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงของรสชาติจากรสเปรี้ยวจัดเป็นรสหวานจัดโดยมีคะแนนเปลี่ยนแปลงจาก 1.0 เป็น 5.0 (1= ไม่ชอบ, 5= ชอบมากที่สุด)

เมื่อเก็บรักษาผลมะม่วงพันธุ์อกร่องทองที่ยังไม่ได้บ่มไว้ที่อุณหภูมิ 5oซ. กับ 85.1%RH  9oซ. กับ 89.3%RH และ 13oซ. กับ 82.3%RH เป็นเวลา 1 2 3 4 และ 5 สัปดาห์ แล้วนำมาบ่มด้วยก๊าซ C2H4 ความเข้มข้น 200 ppm ทุก ๆ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงนำมาเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้อง พบว่าผลที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 13oซ. เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และเมื่อนำมาบ่มแล้วเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 4 วัน มีสภาพเหมาะต่อการซื้อขายมากที่สุด โดยมีการเปลี่ยนแปลงความแน่นเนื้อจาก 0.8 เป็น 0.6 กก./ตร.ซม. ปริมาณ SS เพิ่มขึ้นจาก 14.2 เป็น 16.2% ส่วนปริมาณกรดในน้ำคั้นคำนวณเทียบเป็นกรดซิตริกลดลงจาก 0.5 เป็น 0.3% การเปลี่ยนแปลงสีเปลือกจากสีเขียวอมเหลืองเป็นเหลืองอมเขียวเพียงเล็กน้อย โดยมีคะแนนเปลี่ยนแปลงจาก 2.8 เป็น 4.5 และมีการเปลี่ยนแปลงสีเนื้อจากสีเหลืองอ่อนเป็นเหลืองเข้ม โดยมีคะแนนเปลี่ยนแปลงจาก 3.7 เป็น 4.7 นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงของรสชาติจากรสเปรี้ยวอมหวานเป็นรสหวานจัด โดยมีคะแนนเปลี่ยนแปลงจาก 2.3 เป็น 4.5

ผลที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 5oซ. เริ่มแสดงอาการ chilling injury เมื่อเก็บรักษาได้ 3 สัปดาห์ และพบอาการมากขึ้น เมื่อทำการเก็บรักษาไว้ถึง 4 สัปดาห์ ผลพวกที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 9oซ. และ 13oซ. เป็นเวลา 3 สัปดาห์ เริ่มมีอากานเน่าเมื่อนำผลมาเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้องได้เพียง 2 วัน  และหมดสภาพการซื้อขายเมื่อเก็บรักษาต่อมาอีก  1วัน

นอกจากนี้ผลมะม่วงที่บ่มด้วยก๊าซ C2H4 ความเข้มข้น 200 ppm แล้วนำไปเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 0 1 2 และ 3 วัน หลังจากนั้นนำไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5oซ. กับ 85.1%RH  9oซ. กับ 89.3%RH และ 13oซ. กับ 82.3%RH เป็นเวลา 1 2 3 และ 4 สัปดาห์ ปรากฏว่าผลมะม่วงมีการเปลี่ยนแปลงการสุกเพิ่มขึ้นตามจำนวนวันที่ทำการเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้อง นอกจากนี้ยังพบว่าผลมะม่วงพวกที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 13oซ. มีการสุกมากกว่าพวก 9oซ. และ 5oซ. และพวก 9oซ. มีการสุกมากกว่า 5oซ. ตามลำดับ เมื่อทำการศึกษาในจำนวนวันที่เท่ากัน ผลมะม่วงพวกที่บ่มแล้วเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 1 วัน หลังจากนั้นจึงนำไปเก็บรักษาต่อที่อุณหภูมิ 5oซ. เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ผลมะม่วงจะแสดงอาการ chilling injury ผลมะม่วงที่นำออกจากถุงบ่มแล้วเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 2 วัน เมื่อนำไปเก็บรักษาต่อที่อุณหภูมิ 5oซ. และ 9oซ. เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ผลมะม่วงเหล่านี้จะแสดงอาการ chilling injury ในทำนองเดียวกันพวกที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 3 วัน แล้วนำไปเก็บรักษาต่อที่อุณหภูมิ 5oซ. และ 9oซ. เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก็เกิดอาการ chilling injury ได้