บทคัดย่องานวิจัย

การพัฒนาสารเคลือบผิวสำหรับส้มเขียวหวาน

ปรีดา จิตตารมย์

วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (เกษตรศาสตร์)) สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2536. 81 หน้า.

2536

บทคัดย่อ

การพัฒนาสารเคลือบผิวสำหรับส้มเขียวหวาน การศึกษาคุณสมบัติของสารเคลือบผิวส้มเขียวหวาน (Citrus reticulata Blanco cv. Khieo Wann) ที่เตรียมได้จากไข 2 ชนิด คือ caranauba ความเข้มข้น 0 ถึง 15% และ shellac ความเข้มข้น 0 ถึง 20% เปรียบเทียบกับสารเคลือบผิวเชิงการค้า Johnson’s wax 100% ซึ่งใช้ได้ดีกับส้มเขียวหวาน พบว่าสารเคลือบผิวที่เตรียมได้จาก caranauba สามารถป้องกันการสูญเสียน้ำหนักของผลส้มเขียวหวานได้ถึง 60% สัมพันธ์โดยตรงกับความเข้มข้น และไม่จำกัดการแลกเปลี่ยนก๊าซของผลส้ม ทำให้ O2 และ CO2 ภายในผล รวมทั้งปริมาณ ethyl alcohol ในhead space เหนือน้ำคั้นไม่ต่างจากผลปกติ แต่ carnauba ซึ่งเคลือบไว้บนผ้า silk screen จำกัดการผ่านของ O2 และ CO2 ได้บ้าง เมื่อความเข้มข้นสูงขึ้น สำหรับสารเคลือบผิวที่เตรียมจาก shellac สามารถป้องกันการสูญเสียน้ำหนักของผลส้มเขียวหวานได้เพียง 20% และไม่แตกต่างกันในทุกความเข้มข้น แต่มีคุณสมบัติในการจำกัดการแลกเปลี่ยนก๊าซของผลส้มได้ดีสัมพันธ์โดยตรงกับความเข้มข้น สอดคล้องกับปริมาณ ethyl alcohol ใน head space เหนือน้ำคั้นซึ่งมีมากกว่าผลปกติ O2 และ CO2 ซึมผ่าน  shellac ที่เคลือบไว้บนผ้า silk screen ได้ผกผันกับความเข้มข้น ส่วน Johnson’s wax 100% มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับ caranauba 10% การเคลือบผิวส้มด้วยสารเคลือบผิวทุกชนิดและความเข้มข้นดังกล่าวนี้ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณ soluble solids (SS), กรดที่ไทเทรตได้ (TA) และกรดแอสคอบิคในน้ำคั้นของส้มเขียวหวาน คุณสมบัติของสารเคลือบผิวที่เตรียมจาก carnauba ผสม shellac ความเข้มข้นรวม 12% ในการป้องกันการสูญเสียน้ำหนัก และจำกัดการแลกเปลี่ยนก๊าซของผลส้มเขียวหวานส่วนใหญ่อยู่ระหว่างคุณสมบัติของไขแต่ละอย่าง แต่ความเป็นมันเงาของผลส้มเขียวหวานซึ่งเคลือบด้วยไขผสมมีน้อยกว่าการเคลือบผิวด้วย caranauba และ shellac ตามลำดับ ผลต่อรสชาติและกลิ่นในการรับประทาน ปริมาณ SS, TA และกรดแอสคอบิคในน้ำคั้น ความแน่นเนื้อ และการเสียรูปทรงของผลส้มเขียวหวานไม่แตกต่างจากผลปกติ