บทคัดย่องานวิจัย

การเจริญเติบโต ดัชนีการเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาผลกล้วยไข่ในสภาพบรรยากาศดัดแปลง

ชาติชาย รุผักชี

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. 2534. 85 หน้า.

2534

บทคัดย่อ

การเจริญเติบโต ดัชนีการเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาผลกล้วยไข่ในสภาพบรรยากาศดัดแปลง การศึกษาการเจริญเติบโต ดัชนีการเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาผลกล้วยไข่ในสภาพบรรยากาศดัดแปลง พบว่าแบบการเจริญเติบโตของผลหลังกาบปลีเปิดเต็มที่จนผลแก่เต็มที่ซึ่งใช้เวลา 52 วัน เป็นแบบ simple sigmoid curve ผลมีเหลี่ยมลดลงเมื่ออายุมากขึ้น และไม่ชัดเจนตั้งแต่ 49 วัน เปลือกผลมีสีเขียวตองอ่อนขณะอายุ 0 วัน หลังจากนั้นจนถึง 14 วันสีเปลือกเขียวเข้มขึ้นเรื่อย ๆ และในเวลาต่อมาจึงมีสีเขียวลดลงจนถึงสีเขียวตองอ่อนขณะผลแก่ ส่วนเนื้อเริ่มแรกสีขาว เมื่อผลอายุมากขึ้นจึงเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนถึงสีเหลืองอมส้มในช่วงสุดท้าย ขณะผลอายุ 0 วัน ความถ่วงจำเพาะ (ถพ.) มีค่ามากกว่า 1.00 หลังจากนั้นค่า ถพ. ลดลงต่ำกว่าและเท่ากับ 1.00 เมื่อผลอายุ 7  และ 14 วันตามลำดับ ในเวลาต่อมาค่าถพ. จึงเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.00 อีกครั้งตั้งแต่ผลอายุ 21 วัน ปริมาณ total solids และแป้งของเนื้อผลเพิ่มขึ้นสูงสุดเท่ากับ 39.72 และ 27.50% ขณะผลอายุ 45 และ 35 วันตามลำดับ และการสะสมแป้งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับปริมาณ total solids (r+0.956) ปริมาณ total sugars มีน้อยมากในช่วงแรกซึ่งไม่เกิน 0.157% ระหว่างผลอายุ 0-42 วัน หลังจากนั้นจึงเพิ่มขึ้นเท่ากับ 0.717 และ 0.720% เมื่อผลอายุ 49 และ 52 วัน ตามลำดับ

วัยของผลกล้วยไข่ที่เหมาะสมต่อการเก็บเกี่ยวควรมีอายุระหว่าง 38-45 วันภายหลังกาบปลีเปิดเต็มที่ หากเก็บเกี่ยวเพื่อส่งตลาดต่างประเทศก็สามารถกระทำได้ก่อนช่วงเวลาดังกล่าว 3 วัน ลักษณะที่บ่งชี้ถึงช่วงที่เหมาะสมต่อการเก็บเกี่ยวผลกล้วยไข่สามารถสังเกตได้ดังนี้คือ ผลยังคงมีเหลี่ยมปรากฏชัดเจน อัตราส่วนความกว้าง : ความหนา ของผลมีค่าระหว่าง 1.10 ถึง 1.06 เปลือกผลสีเขียวตองอ่อน (Yellow Green 144 B) เนื้อสีเหลืองอ่อน (Yellow 12 D) และอัตราส่วนของเนื้อ : เปลือกมีค่าระหว่าง 1.85 ถึง 2.28

การเก็บรักษาผลกล้วยไข่ในถุงพลาสติกปิดสนิท (sealed polyethylene bag, SPEB), SPEB + สารดูดซับแก๊ส CO2 (cA), SPEB + สารดูดซับแก๊ส  C2H4 (eA), SPEB + cA + eA และ SPEB + cA + eA + GA3 ณ อุณหภูมิ 13oซ.(ชสพ. 85-90%) เป็นระยะเวลาต่าง ๆ กัน พบว่าการสะสม CO2 ภายใน SPEB, SPEB + cA และ SPEB + eA มีปริมาณเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเก็บรักษา โดยใน SPEB มี CO2 มากที่สุด รองลงมาได้แก่ SPEB + cA และ SPEB + eA ตามลำดับ ขณะที่ใน SPEB + cA + eA และ SPEB + cA + eA + GA3 มีปริมาณ CO2 ไม่แตกต่างกัน และไม่เกิน 4.8% ซึ่งน้อยกว่า 3 วิธีดังกล่าวข้างต้น O2 ภายใน SPEB และ SPEB + cA เริ่มมีความเข้มข้นต่ำกว่า 2.0% ตั้งแต่เก็บรักษาได้ 3 และ 7 วัน ตามลำดับ ขณะที่ใน SPEB + eA, SPEB + cA + eA และ SPEB + cA + eA + GA3 มี O2 มากกว่า 2.0% ตลอดระยะเวลาที่เก็บรักษา ความเข้มข้นของ C2H4 ภายใน และ SPEB + cA มากกว่า SPEB และลดลงตามระยะเวลาการเก็บรักษาทั้ง 2 วิธีการ ส่วน C2H4 ภายในถุง และ SPEB + eA มีความผันแปรทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงแต่อยู่ในระดับต่ำกว่าทั้ง 3 วิธีดังกล่าวข้างต้น สำหรับการสะสม C2H4 ใน และ SPEB + cA + eA และ และ SPEB + cA + eA + GA3 ต่างก็มีปริมาณน้อยมาก โดยมีความเข้มข้นไม่เกิน 0.06 ส่วนต่อล้าน (สตล.)

ผลกล้วยไข่ที่เก็บรักษาด้วยวิธี SPEB และ และ SPEB + cA มีอายุการเก็บรักษาได้นานเท่ากันคือ 7 วัน ขณะที่ผลซึ่งเก็บรักษาด้วยวิธี SPEB + eA มีอายุการเก็บรักษาได้นานกว่า คือ 14 วัน ส่วนวิธี SPEB + cA + eA และ SPEB + cA + eA + GA3 สามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้มากกว่า 61 วัน ผลกล้วยไข่ที่ผ่านการเก็บรักษาด้วยวิธี SPEB + cA + eA + GA3 แล้วนำมาบ่ม มีอายุการวางจำหน่ายมากกว่าผลที่ผ่านการเก็บรักษาด้วยวิธี SPEB + cA + eA