อิทธิพลขององค์ประกอบทางเคมีภายในผลและการใช้สารเคลือบผิวต่อการเกิดอาการไส้สีน้ำตาลของสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียและพันธุ์ภูเก็ต
จักรพงษ์ พิมพ์พิมล
วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2535. 71 หน้า.
2535
บทคัดย่อ
อิทธิพลขององค์ประกอบทางเคมีภายในผลและการใช้สารเคลือบผิวต่อการเกิดอาการไส้สีน้ำตาลของสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียและพันธุ์ภูเก็ต
การศึกษาอิทธิพลขององค์ประกอบทางเคมีภายในผลและการใช้สารเคลือบผิว
ต่อการเกิดอาการไส้สีน้ำตาลของสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียและพันธุ์ภูเก็ต
โดยทำการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 8 และ
12 องศาเซลเซียส พบว่า ปริมาณ ascorbic acid
มีความสัมพันธ์ค่อนข้างชัดเจนกับการเกิดอาการไส้สีน้ำตาลของผลสับปะรดทั้งสองพันธุ์นี้
ซึ่งถ้าผลสับปะรดมีปริมาณ ascorbic acid สูง (มากกว่า 8
มก./100 มล.) จะมีโอกาสเกิดอาการไส้สีน้ำตาลได้น้อย แต่ถ้ามีปริมาณ ascorbic
acid ต่ำ (4-6 มก./100 มล.) จะมีโอกาสเกิดอาการไส้สีน้ำตาลได้มาก
ส่วนปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ soluble solids สารฟีนอล
อัตราปฏิกิริยาของเอนไซม์ phenylalanine ammonia lyase และเอนไซม์
polyphenol oxidase ไม่พบความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับการเกิดอาการไส้สีน้ำตาล
การคาดคะเนการเกิดอาการไส้สีน้ำตาลของผลสับปะรด
โดยการวิเคราะห์ปริมาณ ascorbic
acid ภายในผลก่อนการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ พบว่า ปริมาณ ascorbic
acid สามารถใช้คาดคะเนการเกิดอาการไส้สีน้ำตาล
และระดับความรุนแรงของอาการได้ดีพอควรโดยเฉพาะในผลสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย
ส่วนผลสับปะรดพันธุ์ภูเก็ตส่วนมากแล้วมีปริมาณ ascorbic ต่ำ
และเกิดอาการไส้สีน้ำตาลอย่างรุนแรงทุกผล
จึงไม่สามารถที่จะนำมาคาดคะเนการเกิดอาการไส้สีน้ำตาลและระดับความรุนแรงของอาการได้
การใช้สารเคลือบผิวประเภท
paraffin-polyethylene (Sta-fresh
7055) 10 เปอร์เซ็นต์ โดยปริมาตร
สามารถลดอาการไส้สีน้ำตาลในผลสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียและพันธุ์ภูเก็ตได้ 70-80 เปอร์เซ็นต์