บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสารสกัดจากพืชบางชนิดที่มีต่อเชื้อราสาเหตุโรคแอนแทรคโนสของมะม่วง (Collectotrichum gloeosporioiodes (Penz.) Sacc.)

ธารทิพย ภาสบุตร

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาโรคพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2540. 85 หน้า.

2540

บทคัดย่อ

ผลของสารสกัดจากพืชบางชนิดที่มีต่อเชื้อราสาเหตุโรคแอนแทรคโนสของมะม่วง (Collectotrichum gloeosporioiodes (Penz.) Sacc.) การทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ของพืช 4 ชนิด คือ พลู ข่า ว่านน้ำ และ ทองพันชั่ง ในการยับยั้งการเจริญของเส้นใยและยังยั้งการงอกของสปอร์เชื้อรา Collectotrichum gloeosporioiodes (Penz.) Sacc. สาเหตุโรคแอนแทรคโนสของมะม่วง พบว่า สารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ของว่านน้ำ (Acorus calamus L.) ที่ระดับความเข้มข้น 500 และ 1000 ppm ยับยั้งการเจริญของเส้นใยและยับยั้งการงอกของสปอร์ เชื้อรา C. gleosporioides ได้ดีที่สุด โดยสามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยได้ 63.55 และ 82.50 เปอร์เซ็นต์ ยับยั้งการงอกของสปอร์ได้ 75.50 และ 100 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และมีค่า ED50 ต่ำสุดคือ 400 ppmเมื่อแยกส่วนของสารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ของว่านน้ำ โดยใช้น้ำและเอธิลอะซีเตตเป็นตัวสกัดสาร พบว่า สารสกัดจากว่านน้ำ แยกออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ละลายในน้ำ และส่วนที่ละลายในเอธิลอะซีเตต จากการทดสอบประสิทธิภาพของสารทั้งสองส่วน พบว่า สารส่วนที่ละลายในเอธิลอะซีเตต ยับยั้งการเจริญของเส้นใย และยับยั้งการงอกของสปอร์ เชื้อรา C. gleosporioides ได้ดีกว่าสารส่วนที่ละลายในน้ำ เมื่อนำสารส่วนที่ละลายในน้ำ ส่วนที่ละลายในเอธิลอะซีเตต และสารสกัดที่สกัดด้วยแอลกลฮอล์ของว่านน้ำ มาทดลองป้องกันการเกิดโรคแอนแทรคโนสบนผลมะม่วง พบว่า สารส่วนที่ละลายในน้ำและสารส่วนที่ละลายในเอธิลอะซีเตต ที่ระดับความเข้มข้น 2500 และ 5000 ppm ป้องกันการเกิดโรคได้ดีกว่าสารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ของว่านน้ำ นำสารเหล่านี้มาทดสอบร่วมกับการใช้น้ำร้อนที่ 51-55 องศาเซลเซียส พบว่าสารส่วนที่ละลายในเอธิลอะซีเตต ที่ระดับความเข้มข้น 5000 ppm ป้องกันการเกิดโรคได้ดีที่สุด นำสารส่วนที่ละลายในเอธิลอะซีเตตมาแยกสารออกฤทธิ์ด้วยวิธีโครมาโตกราฟฟี โดยแยกเก็บสารออกฤทธิ์เป็น 7 ส่วน เมื่อนำสารออกฤทธิ์แต่ละส่วนมาทดสอบประสิทธิภาพ พบว่า สารออกฤทธิ์ส่วนที่ 3 ที่ระดับความเข้มข้น 100, 250 และ 500 ppm ยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อรา C. gleosporioides ได้ดีที่สุด ในขณะที่สารออกฤทธิ์ส่วนที่ 3 และส่วนที่ 4 ยับยั้งการงอกของสปอร์ได้ดีที่สุด ในการทดลองป้องกันการเกิดโรคแอนแทรคโนสบนผลมะม่วง เปรียบเทียบกับสารเคมีคาร์เบนดาซิมพบว่า สารเคมีคาร์เบนดาซิมป้องกันการเกิดโรคได้ดีที่สุด รองลงมาคือ สารออกฤทธิ์ส่วนที่ 3 และ ส่วนที่ 1 และพบว่าการใช้สารออกฤทธิ์และสารเคมีก่อนการปลูกเชื้อรา C. gleosporioides บนผลมะม่วง สามารถป้งกันการเกิดโรคได้ดีกว่าการใช้สารออกฤทธิ์และสารเคมีหลังการปลูกเชื้อราแล้ว 12 ชั่วโมง