บทคัดย่องานวิจัย

การห่อหุ้มด้วยฟิล์มพลาสติกเพื่อการ curing ผลส้มเขียวหวาน

ชูชาติ วัฒนวรรณ

วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (เกษตรศาสตร์)) สาขาวิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2537. 82 หน้า.

2537

บทคัดย่อ

การห่อห้มด้วยฟิล์มพลาสติกเพื่อการ curing ผลส้มเขียวหวาน การทดลองเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลส้มเขียวหวานที่อุณหภูมิห้องโดยห่อหุ้มผลด้วยฟิล์มพลาสติก 2 ชนิด คือ polyvinyl chloride (PVC) และ high-density polyethylene (HDPE) เปรียบเทียบกับการเคลือบผิวด้วย Sta FreshÒ 360 และผลที่ไม่ได้เคลือบผิวและไม้ได้ห่อหุ้มด้วยฟิล์มพลาสติก (control) ทั้งหมดเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง (อุณหภูมิเฉลี่ย 27 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70 เปอร์เซ็นต์) พบว่าการห่อหุ้มด้วยฟิล์มพลาสติก HDPE ทำให้ผลส้มมีอายุการเก็บรักษานานถึง 4 สัปดาห์ ในขณะที่ control เก็บรักษาได้เพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น และ ฟิล์มพลาสติก HDPE ให้ผลดีกว่าฟิล์มพลาสติก PVC เพราะยอมให้มีการแลกเปลี่ยนก๊าซได้ดีกว่า ในขณะที่ผลที่เคลือบผิวยังมีการสูญเสียน้ำหนักปานกลางและยอมให้มีการแลกเปลี่ยนก๊าซได้น้อย ทำให้ผลเหี่ยว เกิดการหมัก มีการสะสมแอลกอฮอล์ภายในผลมากขึ้น ส่งผลให้ผลส้มมีกลิ่นหมักและรสชาติผิดปกติเมื่อเก็บรักษาไว้นานกว่า 3 สัปดาห์ เมื่อนำผลส้มที่ห่อหุ้มฟิล์มพลาสติก HDPE มา curing เพื่อลดการเกิดโรคผลเน่าที่อุณหภูมิ 34-40 องศาเซลเซียส นาน 1-3 วัน แล้วเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง พบว่าไม่สามารถลดการเกิดโรคเน่าที่เกิดจากเชื้อ Botryodiplodia sp., Colletotrichum sp.  และ Fusarium sp. ได้ ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้มีโรคมากขึ้น โดยเฉพาะที่อุณหภูมิสูงและใช้เวลา curing นาน