ผลของจิบเบอเรลลิคแอซิคต่อการพัฒนาตาดอก และการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของดอกและผลของลองกอง
กานดา ตันติยวรงค์
วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2535. 76 หน้า.
2535
บทคัดย่อ
ผลของจิบเบอเรลลิคแอซิคต่อการพัฒนาตาดอก
และการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของดอกและผลของลองกอง
การศึกษาผลของจิบเบอเรลลิคแอซิค
(GA
3) ที่ความเข้มข้น 0, 50,
100 และ 150 ppm ที่ช่วงตาดอกระยะต่าง ๆ
ได้แก่ ช่วงตาดอกระยะที่ 1 (ขนาดตาดอกประมาณ 1.5 มิลลิเมตร) ช่วงตาดอกระยะที่ 2
(18-20 วันหลังจากระยะที่ 1) และช่วงตาดอกระยะที่ 3 (ระยะก่อนดอกบาน 1 สัปดาห์)
กับต้นลองกองที่มีอายุ 8 ปี ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2532-เดือนตุลาคม 2533 ณ
ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ผลปรากฏว่า การให้สารไม่ได้ทำให้มีการพัฒนาตาดอกเร็วขึ้น
แต่มีผลทำให้มีการเพิ่มความยาวช่อดอก และช่อผล โดยเฉพาะการให้สารในช่วงตาดอกระยะที่
2 ที่ความเข้มข้น 100 ppm ถ้าเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นจะทำให้ความยาวช่อผลสูงขึ้นด้วย
การให้สารยังทำให้มีเปอร์เซ็นต์การติดผลสูงขึ้น และลดเปอร์เซ็นต์การหลุดร่วงได้ดี
รวมทั้งน้ำหนักช่อผลเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะการให้สารในช่วงตาดอกระยะที่ 3
สำหรับขนาดของผลจะเพิ่มในด้านความกว้างของผลเท่านั้น
ส่วนเมล็ดสมบูรณ์ต่อผลลดลงซึ่งตรงกันข้ามกับจำนวนเมล็ดลีบมีเพิ่มขึ้น ในด้านปริมาณ
total soluble solids (TSS) นั้น
ถ้าเพิ่มความเข้มข้นขึ้นจะทำให้ปริมาณ TSS มีแนวโน้มลดต่ำลง
ส่วนปริมาณ titratable acidity (TA)
ไม่พบความแตกต่างระหว่างสิ่งทดลอง การให้สาร GA
3ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณ total nonstructural carbohydrate (TNC) ในเปลือกกิ่งของลองกอง
ซึ่งมีรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงปริมาณ TNC ในแต่ละสิ่งทดลองที่คล้ายคลึงกัน
โดยที่ระดับของ TNC พบว่ามีการเพิ่มสูงขึ้น 2 ช่วงในเดือนเมษายนและมิถุนายน
ซึ่งตรงกับช่วงการออกดอกของลองกองพอดี ส่วนปริมาณ total nitrogen (TN) ในเปลือกกิ่งนั้นมีรูปแบบไม่แน่นอน ซึ่งระดับ TN
น่าจะขึ้นกับปริมาณน้ำฝนมากกว่า