บทคัดย่องานวิจัย

ผลกระทบของอุณหภูมิ คาร์บอนไดออกไซด์ และเอทธิลีนที่มีต่อคุณภาพของดอกกล้วยไม้สกุลหวาย

จงวัฒนา พุ่มหิรัญ

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2532. 86 หน้า.

2532

บทคัดย่อ

ผลกระทบของอุณหภูมิ คาร์บอนไดออกไซด์ และเอทธิลีนที่มีต่อคุณภาพของดอกกล้วยไม้สกุลหวาย อัตราการหายใจของช่อดอกกล้วยไม้สกุลหวาย 6 พันธุ์ คือ ปอมปาดัวร์ วอลเตอร์ โอมาย ไวท์แอนเจิล แพนด้า บอม # 16 และ บอม # 28 มีรูปแบบคล้ายคลึงกัน คือ มีลักษณะขึ้นลงเป็นจังหวะประจำวัน (circadian rhythm) โดยมียอดอัตราการหายใจเกิดขึ้น 2-3 ครั้ง ทั้งนี้ยอดแรกเกิดขึ้นขณะที่ดอกเริ่มแย้มหลังจากเก็บเกี่ยว 1 วัน ซึ่งเกิดเฉพาะในวอลเตอร์ โอมาย บอม # 16 และ บอม # 28 ยอดที่ 2 เกิดขึ้นขณะที่ดอกบานเต็มที่ ซึ่งอยู่ในช่วงหลังจากเก็บเกี่ยว 3 วัน และยอดที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อดอกเริ่มโรย ซึ่งเป็นขณะเดียวกับที่ดอกต่อ ๆ ไปเริ่มแย้มในวันที่ 6 หลังจากเก็บเกี่ยว ส่วนอัตราการผลิตเอทธิลีน (C2H4) ของช่อดอกหวายทั้ง 6 พันธุ์นั้น มีรูปแแบคล้ายคลึงกันโดยเริ่มต้นผลิตในอัตราต่ำแล้วเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นยอดก่อนดอกบานเต็มที่ 1 วัน หรือตรงกับระยะที่ดอกบานเต็มที่ ซึ่งอยู่ในช่วง 2-3 วัน หลังจากเก็บเกี่ยว หลังจากนั้นก่อนดอกโรยมีอัตราการผลิต C2H4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในวันที่ 6 หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วลดลง ทั้งนี้วอลเตอร์โอมายมีอัตราการหายใจและการผลิต C2H4 สูงที่สุด โดยมีอัตราการหายใจคาย CO2 133มิลลิลิตร/กิโลกรัม/ชั่วโมง และมีอัตราการผลิต 3.5 ไมโครลิตร/กิโลกรัม/ชั่วโมง รองลงมา คือ ปอมปาดัวร์ ไวท์แอนเจิล แพนด้า บอม# 16 และ บอม # 28 สำหรับดอกย่อยวัยต่าง ๆ คือ ดอกตูม เริ่มแย้ม แย้ม และบาน ซึ่งตัดจากช่อดอกของปอมปาดัวร์ และวอลเตอร์โอมาย ต่างก็มีอัตราการหายใจและการผลิต C2H4 ในรูปแบบเช่นเดียวกับช่อดอก

เมื่อเก็บรักษาช่อดอกปอมปาดัวร์ และวอลเตอร์โอมายแบบแห้งและแบบเปียกไว้ ณ อุณหภูมิ 5o 10 o 13 o 15 o และ 18 o ซ. เป็นเวลา 1 3 5 และ 7 วัน แล้วนำออกมาปักแจกันในน้ำกรอง ณ อุณหภูมิห้อง (RT) 31+2 o ซ. ความชื้นสัมพัทธ์ (ชสพ.) 68+5% ปรากฏว่า การเก็บแบบเปียกให้ผลดีกว่าการเก็บแบบแห้งในหวายทั้ง 2 พันธุ์ อุณหภูมิ 10 o และ 13 oซ. เหมาะในการเก็บรักษาปอมปาดัวร์ แม้จะเก็บรักษานาน 7 วันแล้ว ยังคงมีอายุการปักแจกัน 4-5 วัน และ 10 o ซ. เหมาะในการเก็บรักษาวอลเตอร์โอมาย หลังจากเก็บรักษานาน 7 วันแล้ว ยังคงมีอายุการปักแจกัน 2 วัน เมื่อเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิดังกล่าว ทำให้เกิด chilling injury โดยดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล

เมื่อเก็ยรักษาดอกย่ยอวัยตูมและวัยบานของปอมปาดัวร์และวอลเตอร์โอมายในชวดแก้วปิดสนิทแล้วเติม CO2 0 10 20 40 และ 60%วางไว้ที่อุณหภูมิ 25 o ซ. เป็นเวลานาน 4 วัน พบว่า พวกที่เติม CO2 นั้นมีสภาพดีกว่า control แต่มีแนวโน้มทำให้การบานเพิ่มของดอกตูมลดลง แต่ CO2 ความเข้มข้นสูงกลับเป็นพิษต่อเนื้อเยื่อของดอก โดยปอมปาดัวร์เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือสีคล้ำ และต่อมาเป็นสีน้ำตาลและสีซีดจาง ซึ่งดอกบานที่มีวัยอ่อนกว่าตอบสนองได้เร็วกว่าดอกบานที่มีวัยแกกว่า และดอกตูมที่มีวัยแก่กว่าตอบสนองได้เร็วกว่าดอกตูมที่มีวัยอ่อนกว่า และทำให้วอลเตอร์โอมายเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือคล้ำขึ้น  ซึ่งดอกตูมที่มีวัยอ่อนตอบสนองได้เร็วที่สุด เมื่อทำการเก็บรักษาดอกทั้งช่อของหวายทั้ง 2 พันธุ์ดังกล่าวเช่นเดียวกับดอกย่อย ปรากฏว่า CO2 10-20% มีแนวโน้มยืดอายุการปักแจกันของปอมปาดัวร์และวอเตอร์โอมายนานกว่า control 1-2 วัน ตามลำดับ

เมื่อให้ช่อดอกปอมปาดัวร์และวอเตอร์โอมาย ได้รับ C2H4 ความเข้มข้นต่าง ๆ ในเวลาต่าง ๆ กันนั้น พบว่าการได้รับ C2H4 0.25 ppm เป็นเวลานาน 36 ชม. ทำให้ปอมปาดัวร์ที่บานอยู่หุบ โดยดอกที่มีวัยอ่อนกว่าจะหุบก่อนดอกที่มีวัยแก่กว่าตามลำดับ ถ้าความเข้มข้นของ C2H4 มากถึง 32 ppm ในเวลา 24 ชม. ไม่เพียงแต่ทำให้ดอกบานหุบ ยังทำให้ดอกฟุบและร่วง ส่วนวอลเตอร์โอมายนั้นเมื่อได้รับ C2H4 0.25 ppm เป็นเวลานาน 36 ชม. ดอกตูมเปลี่ยนเป็นสีเหลืองขณะที่ดอกบานยังปกติ และพบว่าพวกที่ได้รับ C2H4 4.0 ppm มีดอกบานหุบ ดอกจะฟุบและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อได้รับ C2H416 หรือ 32 ppm เป็นเวลา 24 ชม. เมื่อได้รับ C2H4 0.25 ppm เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 16 ชม. ทำให้ดอกบานของปอมปาดัวร์หุบเมื่อปักแจกันได้ 4 วัน และทำให้ดอกตูมของวอลเตอร์โอมายเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ส่วนพวกที่ได้รับ C2H4 เป็นเวลานานถึง 24 ชม. มีอายุการปักแจกันสั้นกว่า control 2-3 วัน การตอบสนองต่อ C2H4 ที่ให้จากภายนอกของหวายทั้ง 2 พันธุ์นั้น ดอกที่มีวัยอ่อนกว่าจะตอบสนองต่อ C2H4 ได้เร็วกว่าดอกที่มีวัยแก่กว่าไม่ว่าดอกตูมหรือดอกบาน

การเก็บรักษาหวายปอมปาดัวร์และวอลเตอร์โอมาย เป็นเวลานาน 7 วัน ที่อุณหภูมิ 10 o ซ. พวกที่แช่โคนก่านในน้ำกรองที่บรรจุในหลอดพลาสติก ซึ่ง pulsing ก่อนเก็บรักษาในสารละลายกระตุ้น (pulsing solution) หรือพวกที่แช่ในโคนก้านใบในสารละลายปักแจกัน (holding solution) ที่บรรจุในหลอดพลาสติก ซึ่งมีทั้งพวกที่ pulsing และไม่ได้ pulsing ให้ผลไม่ดีกว่า control แต่พวกที่แช่โคนก้านดอกในน้ำกรองและใส่วัสดุดูดซับแก๊ส C2H4 (ethylene absorbent, EA) ในถุงบรรจุดอกไม้ ทั้ง 2 พันธุ์มีคุณภาพดีกว่า control โดยปอมปาดัวร์และวอลเตอร์โอมาย มีอายุการปักแจกันนานกว่า control 2-2.6 และ 1.0 วัน ตามลำดับ และจากการตรวจวัด แก๊ส C2H4 ในถุงบรรจุดอกไม้ที่ใส่ EA  ดังกล่าวนั้น พบว่า C2H4 มีความเข้มข้น 0.005-0.025 และ 0.005-0.010 ppm ในขณะที่ control มี C2H4 เข้มข้นมากกว่า 3.6-7.0 และ 14.15 เท่า ตามลำดับ