บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาองค์ประกอบทางเคมี ความมีชีวิตของเซลล์ และปัจจัยของน้ำที่มีผลต่อการเกิดเนื้อแก้วในผลมังคุด (Garcinia mangostana L.)

วรภัทร ลัคนทินวงศ์

วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (เกษตรศาสตร์)) สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2539. 55 หน้า.

2539

บทคัดย่อ

การศึกษาองค์ประกอบทางเคมี ความมีชีวิตของเซลล์ และปัจจัยของน้ำที่มีผลต่อการเกิดเนื้อแก้วในผลมังคุด การศึกษาพัฒนาการเกิดเนื้อแก้วในผลมังคุดโดยการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีพบว่าปริมาณของแข็งที่ละลายได้ และปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ของผลที่มีเนื้อปกติมากกว่าเนื้อแก้วเล็กน้อย ซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณ water soluble pectin ที่พบในเนื้อปกติมากกว่าที่พบในเนื้อแก้ว 0.55 ส่วน CDTA soluble pectin มีปริมาณเท่า ๆ กัน แต่ปริมาณ Na2CO3 soluble pectin ในเนื้อแก้วมากกว่าที่พบในเนื้อปกติ 0.53 นาโนกรัม/100 กรัมน้ำหนักสด ผลที่มีอาการเนื้อแก้วมีปริมาณอากาศในเนื้อผลน้อยกว่าเนื้อปกติ 15 เท่า คิดเป็นร้อยละ 1.02 ของปริมาตรเนื้อมังคุด เมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำในเนื้อผล พบว่าเนื้อแก้วมีปริมาณน้ำในเนื้อผลมากกว่าเนื้อปกติร้อยละ 1.21 แสดงให้เห็นว่าน้ำได้เข้าไปแทนที่อากาศในเนื้อมังคุด จึงทำให้เนื้อมังคุดมีลักษณะใส ส่วนความแน่นเนื้อของเนื้อแก้ว สูงเป็น 3 เท่าของเนื้อปกติ ข้อมูลที่พบสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่า อาการเนื้อแก้วเกิดจากการที่เซลล์เนื้อมังคุดรับน้ำเข้าไปมาก จนทำให้เซลล์แตกและตาย ส่งผลให้น้ำและสารต่าง ๆ ภายในเซลล์รั่วไหลออกสู่ช่องว่างระหว่างเซลล์ ซึ่งไปมีผลทำให้โมเลกุลของ pectin เปลี่ยนแปลงจากที่ละลายน้ำเป็นไม่ละลายน้ำ ทำให้เนื้อมังคุดด฿ใสและแข็งขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบความมีชีวิตของเซลล์โดยการทดสอบด้วย triphenyltetrazolium chloride วัดอัตราการรั่วไหลของไอออนออกจากเซลล์ วัดการหายใจและการผลิตเอทิลีน พบว่าไม่สามารถบอกความแตกต่างในความมีชีวิตของเนื้อปกติและเนื้อแก้วได้แน่นอน นอกจากนั้นเมื่อทำการอัดน้ำให้กับผลมังคุดที่เก็บเกี่ยวในระยะก่อนเข้าสีผ่านทางก้านผล ปรากฏว่าผลมังคุดแตกมากและเร็วขึ้นเมื่อความดันมากขึ้น แต่ไม่พบว่าเป็นอาการเนื้อแก้วแต่อย่างใด