บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสภาพบรรยากาศดัดแปลงที่มีต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาของผลมังคุด (Garcinia mangostana L.)

สมโภชน์ น้อยจินดา

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2535. 74 หน้า.

2535

บทคัดย่อ

ผลของสภาพบรรยากาศดัดแปลงที่มีต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาของผลมังคุด (Garcinia mangostana L.) การศึกษาดัชนีการเก็บเกี่ยว คุณสมบัติทางเคมี-กายภาพ อัตราการหายใจและการผลิตแก๊สเอทธิลีนและการเก็บรักษาผลมังคุดในสภาพบรรยากาศดัดแปลง ปรากฏว่าหลังจากเก็บเกี่ยวผลมังคุดวัย –1 มาต้องใช้เวลา 14 วันที่ 25o เซลเซียส ผลมังคุดจึงสุก (วัย 5) ทั้งนี้วัย 0 ใช้เวลาในการสุก 7 วัน สำหรับผลวัย 0 ถึงวัย 4 มีระยะเวลาที่ใช้ในการสุกห่างกันวัยละ 1-2 วัน เมื่อผลมังคุดสุกแล้วพวกที่เก็บเกี่ยวมาขณะมีวัย 0 ถึงวัย 4 มีคุณภาพในการรับประทานดีที่สุด ส่วนวัย –1 มีคุณภาพไม่เป็นที่ยอมรับ

ผลมังคุดมีรูปแบบการหายใจจัดอยู่ในพวก climacteric โดยมีอัตราการหายใจเพิ่มขึ้นจาก 10 เป็น 30 มล.กก.-1ชม.-1 ในขณะที่ผลกำลังสุก และการผลิตแก๊สเอทธิลีนเพิ่มขึ้นจาก 2 เป็น 15 มค.ล.กก.-1ชม.-1 โดยเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดหลังจากการเกิด climacteric peak (CP) แล้ว 2.5-3 วัน การได้รับน้ำที่ขั้วของผลมังคุดหลังการเก็บเกี่ยวทำให้อัตราการหายใจและการผลิตเอทธิลีนเพิ่มขึ้น และช่วยเร่งให้เปลือกผลเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้ม (วัย 4) เร็วขึ้นกว่าปกติ 2 วัน แก๊สเอทธิลีนที่ให้จากภายนอกสามารถย่นระยะเวลาการเกิด CP ของผลมังคุด โดยการเกิด CP เร็วขึ้นตามความเข้มข้นของแก๊สเอทธิลีนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถชักนำให้ผลมังคุดมีการผลิตแก๊สเอทธิลีนแบบอัตโนมัติ บาดแผลหรือความชอกช้ำของผลมังคุดที่เกิดจากการหล่นกระทบพื้นสามารถชักนำให้การหายใจและการผลิตแก๊สเอทธิลีนเพิ่มขึ้น ภายหลังการหล่นกระทบแล้ว 6-24 ชั่วโมง

ระหว่างการเก็บรักษา ณ อุณหภูมิ 13o เซลเซียส เป็นเวลา 15 วัน ผลมังคุดที่จุ่มเฉพาะขั้วและกลีบเลี้ยงใน GA3 เข้มข้น 1,000 สตล และเคลือบผิวด้วย Sta-fresh # 7055 เข้มข้น 10% มีการสะสมแก๊ส CO2 และเอทธิลีนภายในผลต่ำกว่า comtrol และหลังจากนั้นอีก 15 วัน ผลมังคุดที่จุ่มใน GA3ฯ ยังคงมีคุณภาพการรับประทานซึ่งสามารถซื้อขายกันได้