บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการใช้อุณหภูมิสูงที่มีต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ก่อนการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ

สุกันยา ชิดตระกูล

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2539. 90 หน้า

2539

บทคัดย่อ

ผลของการใช้อุณหภูมิสูงที่มีต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ก่อนการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ การศึกษาผลของอุณหภูมิสูงต่อผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ก่อนการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ โดยให้ผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ที่ได้รับอุณหภูมิ 34 และ 38 องศาเซลเซียส (ความชื้นสัมพัทธ์ 65 และ 60 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ) นาน 3 4 และ 5 วัน และการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4 และ 10(ความชื้นสัมพัทธ์ 98 และ 96 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ) นาน 3 สัปดาห์ แล้วนำมาวางให้สุกที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (ความชื้นสัมพัทธ์ 75 เปอร์เซ็นต์) พบว่าผลมะม่วงที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส เกิดอาการ chilling injury ที่ผิวผล ขณะที่ผลมะม่วงที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส เกิดอาการ chilling injury ที่เนื้อผลติด endocarp และอาการ chilling injury เกิดรุนแรงเพิ่มขึ้นเมื่อนำมาวางที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ผลมะม่วงที่ได้รับอุณหภูมิสูงก่อนการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส สามารถลดอาการ chilling injury และการเน่าเสียเนื่องจากโรค ขณะเก็บรักษาที่อุณหภูมิที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส และวางไว้ให้สุกที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ผลมะม่วงที่ได้รับอุณหภูมิสูงมีการสุกเร็วกว่าผลมะม่วงที่ไม่ได้รับอุณหภูมิสูงทั้งที่ผ่านและไม่ผ่านการเก็บรักษา โดยผลมะม่วงที่ได้รับอุณหภูมิสูงนั้นมีการพัฒนาสีผิวไม่แตกต่างจากผลมะม่วงที่ไม่ได้รับอุณหภูมิสูงแต่ผลมะม่วงที่ได้รับอุณหภูมิสูงมีการพัฒนาสีเนื้อมากกว่า มีปริมาณ soluble solids เพิ่มมากกว่า แต่ปริมาณกรดและความแน่นเนื้อลดลงมากกว่าผลมะม่วงที่ไม่ได้รับอุณหภูมิสูง ผลมะม่วงที่ไม่ได้รับอุณหภูมิสูงมีกิจกรรมของเอนไซม์ polygalacturonase สูงกว่าผลมะม่วงที่ได้รับอุณหภูมิสูง ขณะที่ผลมะม่วงที่ได้รับและไม่ได้รับอุณหภูมิสูงมีปริมาณ water soluble pectin ใกล้เคียงกัน ส่วนกิจกรรมของเอนไซม์ pectin methylesterase นั้นผลมะม่วงที่ไม่ได้รับอุณหภูมิสูงมีกิจกรรมมากกว่าผลมะม่วงที่ได้รับอุณหภูมิสูง ขณะที่ผลมะม่วงที่ได้รับอุณหภูมิสูงมีกิจกรรมของเอนไซม์ b-galactosidase มากกว่าผลมะม่วงที่ไม่ได้รับอุณหภูมิสูง ยกเว้น 2 วันแรกผลมะม่วงที่ได้รับและไม่ได้รับอุณหภูมิสูงมีกิจกรรมของเอนไซม์  b-galactosidase ใกล้เคียงกัน  แต่เมื่อตรวจสอบกิจกรรมของเอนไซม์ b-galactosidase ในผลมะม่วงที่ผ่านการเก็บรักษา พบว่าผลมะม่วงที่ได้รับอุณหภูมิสูงมีกิจกรรมของเอนไซม์  b-galactosidase มากกว่าผลมะม่วงที่ไม่ได้รับอุณหภูมิสูง แต่ในผลมะม่วงที่ไม่ได้รับอุณหภูมิสูงกลับมีกิจกรรมของเอนไซม์ pectin methylesteraseมากกว่าผลมะม่วงที่ได้รับอุณหภูมิสูงภายหลังการเก็บรักษา