บทคัดย่องานวิจัย

การเจริญเติบโตและการพัฒนาของผลทุเรียนสุกพันธุ์หมอนทองและอิทธิพลของเอทิฟอนในระยะก่อนการเก็บเกี่ยว

พีรพงษ์ แสงวนางค์กูล

วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (เกษตรศาสตร์)) สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2541, 116 หน้า.

2541

บทคัดย่อ

การเจริญเติบโตและการพัฒนาของผลทุเรียนสุกพันธุ์หมอนทองและอิทธิพลของเอทิฟอนในระยะก่อนการเก็บเกี่ยว การศึกษาการเจริญเติบโตและการพัฒนาของผลทุเรียนพันธุ์หมอนทองโดยใช้ผลทุเรียนจากสวนใน อ.สวี จ.ชุมพร และ อ.ขลุง จ.จันทบุรี ระหว่างเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม พ.ศ.2538 และมกราคม-พฤษภาคม พ.ศ. 2539 ตามลำดับ พบว่า รูปแบบการเจริญเติบโตและการพัฒนาของผลทุเรียนทั้งผลและส่วนต่าง ๆ ในผลตั้งแต่ดอกบานจนผลพร้อมเก็บเกี่ยวใช้เวลาประมาณ 120-127 วัน เป็นแบบ simple sigmoid curve โดยมีระยะที่ 1 (lag phase) ตั้งแต่ติดผลจนถึงผลอายุ 57 วันหลังดอกบาน ระยะที่ 2 (log phase) ผลอายุ 57-85 และ 57-92 วัน ในสวน จ.ชุมพร และ จ.จันทบุรี ตามลำดับ และระยะที่ 3 (stationary phase) ผลอายุมากกว่า 85-92 วันขึ้นไป โดยใน้ำหนักแห้งและปริมาณไขมันในเนื้อทุเรียนเริ่มเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายระยะที่ 2 ของการเจริญเติบโต (ผลอายุ 75-85 วัน) และเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วมากเมื่อเข้าสู่ระยะที่ 3 ของการเจริญเติบโตของผล การเกิดสีเหลืองของเนื้อเริ่มเกิดขึ้นเมื่อผลอายุ 99 วัน และเหลืองชัดเจนเมื่อผลอายุ 113-127 วัน สอดคล้องกับปริมาณ b-carotene ที่เริ่มเพิ่มขึ้นเมื่อผลเริ่มเข้าสู่ระยะที่ 3 ของการเจริญเติบโตของผล หลังจากนั้นปริมาณ b-carotene คงที่และเพิ่มมากขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายระยะที่ 3 การเปลี่ยนแปลงปริมาณ total nonstructural carbohydrate (TNC) และน้ำตาลทั้งหมดในเนื้อผลทุเรียนพันธุ์หมอนทองมีรูปแบบเป็นโค้งพาราโบลาหงาย กล่าวคือ มีปริมาณขณะผลยังอ่อนอยู่สูงมาก แล้วลดลงจนมีระดับต่ำสุดเมื่อเริ่มเข้าสู่ระยะที่ 3 ก่อนกลับเพิ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อผลมีอายุมากขึ้นจนมีปริมาณสูงสุดเมื่อผลอายุ 127 วัน ทั้ง 2จังหวัดสอดคล้องกับปริมาณ soluble solids (SS) ที่เพิ่มขึ้นตลอดระยะที่ 3 เมื่อเก็บรักษาผลทุเรียนพันธุ์หมอนทองอายุ 120 และ 127 วัน จากสวนใน จ.จันทบุรี ในสภาพอุณหภูมิห้อง พบว่า ผลทุเรียนสามารถสุกได้ใน 6-9 และ  4-6 วัน ตามลำดับ โดยเปลือกผลเริ่มเป็นสีเหลืองเล็กน้อย มีสีเหลืองของเนื้อและสีน้ำตาลแดงของเมล็ดเข้มมากขึ้น มีปริมาณ b-carotene, TNC, SS และน้ำตาลทั้งหมดในส่วนเนื้อผลเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่เก็บรักษา สอดคล้องกับคุณภาพการรับประทานที่ยอมรับได้ ขณะที่น้ำหนักแห้งของเนื้อและปริมาณไขมันในส่วนเนื้อผลค่อนข้างคงที่

การศึกษาผลของสารละลายเอทีฟอนต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาของผลทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ปลูกใน อ.สวี จ.ชุมพร พบว่า การพ่นเอทีฟอนเข้มข้น 500 มิลลิกรัม/ลิตร 3 ครั้งเมื่อผลอายุ 78, 85 และ 92 วันต่อเนื่องทำให้ผลทุเรียนที่ได้มีขนาดเล็กและมีการพัฒนาต่าง ๆ ไม่สมบูรณ์แตกต่างจากผลปกติและผลที่ได้รับเอทีฟอน 1,000 มิลลิกรัม/ลิตร 3 ครั้งเมื่อผลอายุ 106, 113 และ 120 วันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผล 2 กลุ่มหลังนี้มีน้ำหนักและเส้นผ่าศูนย์กลางผลไม่แตกต่างกัน เปลือกผลทุเรียนที่ได้รับเอทีฟอน 500 มิลลิกรัม/ลิตร มีสีเขียวอมน้ำตาลผิดปกติ เนื้อผลสีครีมซีดและยังคงแน่นแข็งแม้ผลมีอายุถึง 127 วัน และเก็บรักษาได้นาน 4 วัน แต่มีปริมาณ b-carotene, TNC, SS และไขมันไม่แตกต่างจากผลปกติและผลที่ได้รับเอทีฟอน 1,000 มิลลิกรัม/ลิตร โดยผลที่ได้รับเอทีฟอน 1,000 มิลลิกรัม/ลิตร มีสีเนื้อเหลืองเข้มและมีปริมาณน้ำตาลทั้งหมดในผลสูงที่สุด และสามารถฉีกเปลือกผลออกได้ง่ายโดยใช้แรงเพียง 105-141 นิวตันเท่านั้น ขณะที่ผลปกติและผลที่ได้รับเอทีฟอน 500 มิลลิกรัม/ลิตร ต้องออกแรงฉีกเปลือกผลมากกว่า 196 นิวตัน