บทคัดย่องานวิจัย

ปัจจัยบางประการที่มีผลต่อการเปลี่ยนสีผิวของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้และพันธุ์ทองดำ

วันดี ภควัตมงคล

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2539. 64 หน้า.

2539

บทคัดย่อ

ปัจจัยบางประการที่มีต่อการเปลี่ยนสีผิวของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองและพันธุ์ทองดำ การศึกษาปัจจัยบางประการที่มีผลต่อการเปลี่ยนสีผิวของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เปรียบเทียบกับพันธุ์ทองดำ โดยศึกษาลักษณะของการเปลี่ยนแปลงการหายใจ การสร้างเอทิลีน สีผิวและสีเนื้อ ความแน่นเนื้อ ปริมาณของแข็งที่ละลายได้ (soluble solids ; SS) ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ (titratable acidity ; TA) อัตราส่วน SS/TA ปริมาณน้ำตาลรีดิวซิง ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด ปริมาณ total nonstructural carbohydrate ปริมาณเบต้าแคโรทีนในเปลือกและในเนื้อผลภายหลังการเก็บเกี่ยวปกติระหว่างการสุกที่อุณหภูมิเฉลี่ย 25.6 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 69.5 เปอร์เซ็นต์ พบว่า มะม่วงพันธุ์ทองดำมีปริมาณคลอโรฟิลล์และเบต้าแคโรทีนในเปลือกผิว ตลอดจนอัตราการผลิตก๊าซเอทิลีนและคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าพันธุ์น้ำดอกไม้ ความเข้มข้นของเอทิฟอน 1,000 และ 2,000 ppm ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสีเปลือกผิวของมะม่วงพันธุ์ทองดำ ขณะที่ความเข้มข้นของเอทิฟอนเพียง 250 และ 500 ppm กลับเพิ่มการเปลี่ยนแปลงสีเปลือกผิวมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ให้เกิดเร็วขึ้น กิจกรรมของเอนไซม์เพอรอกซิเดสและคลอโรฟิลเลสในเปลือกผิวมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้มีมากกว่าพันธุ์ทองดำในระหว่างการสุก จากข้อมูลทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าการสุกของมะม่วงพันธุ์ทองดำโดยไม่เปลี่ยนสีผิวเป็นสีเหลือง อาจเนื่องมาจากผิวผลของมะม่วงมีกิจกรรมของเอนไซม์คลอโรฟิลเลสและ/หรือเพอรอกซิเดสมีน้อยกว่าการที่มะม่วงพันธุ์ทองดำมีอัตราการสร้างเอทิลีนต่ำ