บทคัดย่องานวิจัย

ความสัมพันธ์ระหว่างออกซิน 1-aminocyclopropane-1-carboxylic acid (ACC) และเอทิลีนกับการเสื่อมสภาพของดอกกล้วยไม้หวายปอมปาดัวร์ที่ได้รับการผสมเกสร

อดิเรก รักคง

วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (เกษตรศาสตร์)) สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2540. 79 หน้า.

2540

บทคัดย่อ

ความสัมพันธ์ระหว่างออกซิน 1-aminocyclopropane-1-carboxylic acid (ACC) และเอทิลีนกับการเสื่อมสภาพของดอกกล้วยไม้หวายปอมปาดัวร์ที่ได้รับการผสมเกสร การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างออกซิน 1-aminocyclopropane-1-carboxylic acid (ACC) และเอทิลีนกับการเสื่อมสภาพของดอกกล้วยไม้หวายปอมปาดัวร์ที่ได้รับการผสมเกสร พบว่าดอกกล้วยไม้หวายปอมปาดัวร์ที่ได้รับการผสมเกสรเกิดการเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว สามารถสังเกตเห็นอาการได้หลังผสมเกสรประมาณ 15 ชั่วโมง โดยมีอาการดอกคว่ำ กลีบดอกลู่ลง เกิดเส้นเวนบนกลีบดอกชัดเจน สีของกลีบดอกซีดลง และทำให้มีการพัฒนาของรังไข่ ดอกกล้วยไม้มีกิจกรรมของเอนไซม์ ACC synthase และปริมาณของ ACC ในส่วนของเส้าเกสรรวมกับก้านดอกย่อยเพิ่มขึ้นมากกว่าในส่วนของกลีบดอกรวมกับกลีบเลี้ยง นอกจากนี้ การผสมเกสรยังทำให้ดอกกล้วยไม้มีความไวต่อการเอทิลีนเพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุทำให้ดอกกล้วยไม้หวายปอมปาดัวร์เกิดการเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว การให้สาร  naphthaleneacetic acid (NAA) ทุกระดับความเข้มข้น (5 10 20 ไมโครกรัมต่อดอก) กับดอกกล้วยไม้หวายปอมปาดัวร์ สามารถชักนำให้เกิดการเสื่อมสภาพและมีการพัฒนาของรังไข่ได้เช่นเดียวกับการผสมเกสร แต่ปริมาณออกซินในก้อนเรณูไม่สัมพันธ์กับการเสื่อมสภาพของดอกกล้วยไม้ การให้สาร ACC ความเข้มข้น 20 และ 40 นาโนโมลต่อดอก สามารถชักนำให้ดอกกล้วยไม้หวายปอมปาดัวร์เกิดการเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับการผสมเกสร แต่ไม่สามารถทำให้รังไข่พัฒนาขึ้นได้ นอกจากนี้รูปแบบการผลิตเอทิลีนยังแตกต่างกัน โดย ACC ทำให้ดอกผลิตเอทิลีนเพิ่มขึ้นในระยะแรก ๆ หลังการผสมเกสรเท่านั้น แต่เอทิลีนที่เกิดจากการผสมเกสรนั้นเกิดช้ากว่าและมีอัตราการผลิตมากกว่าและต่อเนื่องนานกว่า