บทคัดย่องานวิจัย

ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของผลกล้วยหอมพันธุ์แกรนด์เนน [Musa (AAA group. Cavendish subgroup) ‘Grand Nain’]

สุภาพรรณ ธรรมสุวรรณ

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาวิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2539. 67 หน้า.

2539

บทคัดย่อ

ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของผลกล้วยหอมพันธุ์แกรนด์เนน [Musa (AAA group. Cavendish subgroup) ‘Grand Nain’] ได้ทำการศึกษาคุณภาพของผลกล้วยหอมพันธุ์แกรนด์เนนจาก 3 แหล่งปลูก พบว่าปริมาณ ผลผลิต ข้อมูลของผล คุณภาพของผลดิบและผลสุก ซึ่งบ่มด้วยแก๊สเอทธิลีนที่อุณหภูมิ 20oC ณ  ความชื้นสัมพัทธ์ 85 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่มีค่าเฉลี่ยไม่แตกต่างทางสถิติ ยกเว้น ความหนา น้ำหนักและปริมาตรของผล ตลอดจนความหนาเนื้อของผลดิบและความหนาเนื้อกับน้ำหนักแห้งเปลือกของผลสุก เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพของผลจากหวีต่าง ๆ ในเครือเดียวกัน พบว่าหวีที่ 1 มีน้ำหนักหวีและจำนวนผลต่อหวีสูงที่สุด และมีค่าเฉลี่ยลดลงตามลำดับหวีที่เพิ่มขึ้น ส่วนข้อมูลของผลมีค่าเฉลี่ยไม่แตกต่างทางสถิติ และเมื่อพิจารณาคุณภาพของผลดิบและสุกจากหวีต่าง ๆ ในเครือเดียวกัน พบว่าผลกล้วยมีค่าเฉลี่ยไม่แตกต่างทางสถิติ ยกเว้นความหนาของเนื้อ เนื้อ/เปลือก และปริมาณแป้งของผลดิบ รวมทั้งความหนาของเนื้อ เนื้อ/เปลือก น้ำหนักแห้งของเนื้อและเปลือก ตลอดจนปริมาณ SS และคุณภาพการรับประทานของผลสุก

การเปรียบเทียบคุณภาพของผลกล้วยหอมพันธุ์กล้วยหอมพันธุ์แกรนด์เนนกับกล้วยหอมคาเวนดิชอีก 3 พันธุ์ คือ วิลเลี่ยมส์ โฮชูชู และเสียนเจนเฉียว พบว่าพันธุ์วิลเลี่ยมส์และโฮชูชูมีค่าเฉลี่ยของน้ำหนักเครือและหวีมากกว่าอีก 2 พันธุ์ และยังแตกต่างกันทางสถิติด้วย ค่าเฉลี่ยจำนวนหวีต่อเครือไม่แตกต่างกันทางสถิติ แต่พันธุ์เสียนเจนเฉียว และแกรนด์เนนมีจำนวนผลต่อหวีมากกว่าวิลเลี่ยมส์และโฮชูชู ส่วนข้อมูลของผล คือ ความกว้าง ความยาว ความหนา น้ำหนักและปริมาตร ตลอดจนความถ่วงจำเพาะของผล พบว่าพันธุ์วิลเลี่ยมส์และโฮชูชูให้ค่าเฉลี่ยมากกว่าพันธุ์อื่น ยกเว้นความกว้างและความถ่วงจำเพาะของผลซึ่งพันธุ์เสียนเจนเฉียวก็มีค่าสูงด้วย แต่คุณภาพของผลดิบหรือผลสุกของแต่ละพันธุ์มีค่าเฉลี่ยส่วนใหญ่ไม่แตกต่างกันทางสถิติ ยกเว้นความหนาของเนื้อเปลือก เนื้อ/เปลือก น้ำหนักแห้งของเปลือก และปริมาณน้ำตาลทั้งหมดของผลดิบ รวมทั้งความหนาของเนื้อ เปลือก เนื้อ/เปลือก น้ำหนักแห้งของเปลือก ปริมาณ SS ปริมาณน้ำตาลทั้งหมดของผลดิบ ความแน่นเนื้อตลอดจนการสูญเสียน้ำหนักและคุณภาพการรับประทานของผลสุก เมื่อศึกษาผลของกรดจิบเบอเรลลิกต่อความแข็งแรงของขั้วและคุณภาพด้านอื่น ๆ ของผลกล้วยหอมพันธุ์แกรนด์เนน พบว่ากล้วยที่ทาขั้วผลด้วยกรดจิบเบอเรลลิก มีขั้วผลแข็งแรงและสีเขียวเข้มกว่าพวกที่ไม่ได้ทา โดยที่ความเข้มข้น 1,000 ppm มีขั้วผลแข็งแรงมากที่สุด และไม่พบว่ากรดจิบเบอเรลลิกมีผลต่อคุณภาพด้านอื่น ๆ