ผลของอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่มีต่อการสุกและการหลุดร่วงของกล้วยไข่
อภิวรา ประยูรวงศ์
วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2542. 105 หน้า.
2542
บทคัดย่อ
ผลของอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่มีต่อการสุกและการหลุดร่วงของกล้วยไข่
การศึกษาผลของอุณหภูมิและความสัมพันธ์ที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพการสุกและการหลุดร่วง
(finger
drop) ของกล้วยไข่ พบว่า กล้วยไข่วางไว้ให้สุกที่อุณหภูมิ 25
องศาเซลเซียส และ ความชื้นสัมพัทธ์ 90 เปอร์เซ็นต์
มีคุณภาพการสุกของกล้วยไข่ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับผลกล้วยไข่ที่วางไว้ที่อุณหภูมิ
22 และ 28 องศาเซลเซียส
โดยพิจารณาจากสีเปลือก การชิมและกลิ่นผิดปกติ และปริมาณ total sugars,
soluble solids ของเนื้อผลกล้วย ส่วนกล้วยไข่ ที่ได้รับเอทิฟอน 500
พีพีเอ็ม แล้ววางไว้ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส
และความชื้นสัมพัทธ์ 90 เปอร์เซ็นต์ตลอด พบว่ามีการเกิด
finger drop มากที่สุด ส่วนกล้วยไข่ที่วางไว้ให้สุกที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 90 เปอร์เซ็นต์นาน
24 ชั่วโมงแล้วย้ายไปวางไว้ที่อุณหภูมิห้อง มีการเกิด finger
drop น้อยที่สุด กล้วยไข่ที่เกิด finger drop น้อยและมากไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติของสีเปลือกและเนื้อกล้วย
(ค่า L และ b), ความแน่นเนื้อของเนื้อผล,
และปริมาณ titratable acidity, soluble solids, total sugars
และ water content ของเนื้อและเปลือกผล
แต่มีความแตกต่างกันทางสถิติของการสูญเสียน้ำหนักของหวีระหว่างกล้วยไข่ที่มีการเกิด
finger drop น้อยและมาก โดยกล้วยไข่ที่มีการเกิด finger drop
มากมีการสูญเสียน้ำหนักน้อย ส่วนกล้วยไข่ที่มีการเกิด finger
drop น้อยมีการสูญเสียน้ำหนักมาก
กล้วยไข่ที่วางไว้ให้สุกที่อุณหภูมิสูงมีการเกิด finger drop มากกว่ากล้วยที่วางไว้ให้สุกที่อุณหภูมิต่ำ และเมื่อกล้วยไข่มีการสุกมากขึ้นการเกิด
finger drop ก็มีมากขึ้น
และจากการศึกษาเปลือกกล้วยไข่บริเวณโคนผลมีกิจกรรมของเอนไซม์ pectin
methylesterase, polygalacturonase, b-galactosidase และปริมาณเพกทินที่ละลายน้ำมากกว่าเปลือกบริเวณกลางผลพบว่า
กล้วยไข่ที่มีการเกิด finger drop มากมีกิจกรรมของเอนไซม์ pectin
methylesterase และ polygalacturonase ในเปลือกมาก
แต่มีกิจกรรมของเอนไซม์ b-galactosidase น้อย