บทคัดย่องานวิจัย

อิทธิพลของความสุกแก่และการเก็บรักษาต่อความงอกและการทำให้เกิดเชื้อรา Aspergillus flavus ของเมล็ดถั่วลิสง 4 พันธุ์

ณพรัตน์ คูโพธิพันธุ์

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชไร่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2530. 101 หน้า.

2530

บทคัดย่อ

อิทธิพลของความสุกแก่และการเก็บรักษาต่อความงอกและการทำให้เกิดเชื้อรา Aspergillus flavus ของเมล็ดถั่วลิสง 4 พันธุ์

การศึกษาอิทธิพลของความสุกแก่และการเก็บรักษาที่มีผลต่อความงอกและการทำให้เกิดเชื้อรา Aspergillus flavus ของเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสง สุโขทัย 38  ไทนาน 9  P.I.337409 และ P.I.337394 F ได้ทำการทดลองระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนตุลาคม 2527 โดยใช้ห้องเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 กองขยายพันธุพืช กรมส่งเสริมการเกษตร จังหวัดนครราชสีมา วางแผนการทดลองแบบ split–split plot design โดยศึกษาสภาพการเก็บรักษา 2 แบบคือ ที่อุณหภูมิห้อง และที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65 เปอร์เซ็นต์ ใช้เมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงทั้ง 4 พันธุ์ ที่ผลิตในแปลงขยายพันธุ์ของสถานีวิจัยสุวรรณวาจกกสิกิจ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา นำฝักถั่วลิสงที่เก็บเกี่ยวและตากแห้งแล้วมากะเทาะเมล็ดด้วยมือและคัดแยกความสุกแก่ของเมล็ดโดยพิจารณาจากสีด้านในของฝักแยกออกเป็น 3 ระดับ คือ เมล็ดอ่อน เมล็ดแก่ และเมล็ดแก่เกินไป บรรจุเมล็ดใส่ถุงผ้าเก็บรักษาเป็นระยะเวลา 8 เดือน ทุก ๆ 2 เดือน สุ่มตัวอย่างเมล็ดพันธุ์มาทดสอบความงอก เมล็ดอีกส่วนนำไปบ่มเพื่อชักนำให้มีการเกิดเชื้อรา A. Flavus

ผลการทดลองพบว่าเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงทั้ง 4 พันธุ์ ที่เก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องมีความชื้นอยู่ระหว่าง 7.90 ถึง 7.72 เปอร์เซ็นต์ ส่วนความชื้นของเมล็ดที่เก็บไว้ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65 เปอร์เซ็นต์ เปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วง 5.9 ถึง 6.14 เปอร์เซ็นต์  เมล็ดถั่วลิสงพันธุ์สุโขทัย 38  ไทนาน 9  P.I.337394  มีความงอกลดลงหลังจากเก็บไว้นาน 6 เดือน ส่วนในพันธุ์ P.I.337409  มีความงอกลดลงเมื่อเก็บเมล็ดนาน 8 เดือน และเมล็ดอ่อนของถั่วลิสงพันธุ์สุโขทัย 38  และ P.I.337409  มีความงอกต่ำกว่าเมล็ดแก่และเมล็ดแก่เกินไป ส่วนพันธุ์ไทนาน 9 และ P.I.337394 F นั้นเมล็ดที่มีการสุกแก่ต่างกันหลังจากเก็บไว้นาน 8 เดือน มีความงอกไม่แตกต่างกัน

 เมล็ดถั่วลิสงพันธุ์ P.I.337409 และ P.I.337394 F ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ต้านทานต่อการเข้าทำลายของเชื้อรา A. flavus มีการเกิดเชื้อรา A. flavus และปริมาณอะฟลาท็อกซิน  B1 ต่ำกว่าเมล็ดถั่วลิสงพันธุ์สุโขทัย 38  และไทนาน 9  เมล็ดถั่วลิสงพันธุ์ไม่ต้านทานมีปริมาณเชื้อราและ อะฟลาท็อกซิน B1 เกิดขึ้นหลังเก็บเมล็ดไว้นาน 6 เดือน เมื่อระยะเวลาในการเก็บรักษานานขึ้น การเกิดเชื้อรา A. flavus และปริมาณอะฟลาท็อกซิน B1 เพิ่มขึ้นเมล็ดถั่วลิสงทุกพันธุ์ที่เก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องมีการเกิดเชื้อราและอะฟลาท็อกซิน B1 สูงกว่าเมล็ดที่เก็บไว้ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้เมล็ดอ่อนของถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน 9  และ P.I.337394 F ซึ่งนำไปบ่มเชื้อ มีการเกิดเชื้อราและสารอะฟลาท็อกซินสูงกว่าในเมล็ดแก่ และเมล็ดแก่เกินไป ในขณะที่พันธุ์สุโขทัย 38 และ P.I.337409 นั้น เมล็ดที่สุกแก่ต่างกันมีการเกิดเชื้อราและสาร

อะฟลาท็อกซินไม่ต่างกัน