อิทธิพลของการเด็ดใบ การให้ปุ๋ยทางใบ ความเข้มแสง และการยืดอายุการเก็บเกี่ยวที่มีผลต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง
จารุวรรณ บางแวก
วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชไร่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2528. 100 หน้า.
2528
บทคัดย่อ
การศึกษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองดำเนินการโดยเก็บตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ถัวเหลืองพันธุ์ สจ.4, สจ.5, OBA และสายพันธุ์ 038 เมื่ออายุ 102, 109 , 116, 123 และ 129 วันหลังงอกจากแปลงปลูกขยายพันธุ์ ณ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ และได้ปลูกถั่วเหลืองพันธ์ สจ. 4 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยให้มีสิ่งทดลองต่าง ๆ ที่ระยะออกดอก 50% ดังนี้คือ การเพิ่มแสง บังร่มเงา ให้ยูเรียทางใบ การเด็ดใบ 66% ของพื้นที่ใบทั้งหมดแล้วเก็บตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ที่อายุ 84, 90, 97, 104, 110 และ 117 วัน นำมาทดสอบคุณภาพเมล็ดในห้องปฏิบัติการวิทยาการเมล็ดพันธุ์ สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร
ตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวมาจากแปลงปลูกขยายพันธุ์ ณ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ เมื่อได้ตรวจสอบคุณภาพเมล็ดด้วยวิธีทดสอบความงอกมาตรฐาน ความงอกเมื่อเพาะได้ 5 วัน น้ำหนักแห้งของต้นอ่อน electrical conductivity ความงอกเมื่อเร่งอายุเมล็ด พบว่า เมื่อเมล็ดถูกทิ้งไว้ในแปลงเป็นเวลานานความงอกและน้ำหนักแห้งของต้นอ่อนจะลดลงเรื่อย ๆ ส่วนค่า electrical conductivity จะเพิ่มขึ้นซึ่งแสดงว่าการเก็บเกี่ยวยิ่งล่าช้า คุณภาพเมล็ดยิ่งต่ำค่าลงเรื่อย ๆ เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพเมล็ดระหว่างพันธุ์ สจ.4 , สจ.5 สายพันธุ์ 038 และพันธุ์OBA อัตราการเสื่อมของเมล็ดพันธุ์ สจ.4 เกิดขึ้นต่ำกว่าพันธุ์อื่น ๆ
จากการศึกษาถึงการเจริญเติบโตของถั่วเหลืองพันธุ์ สจ.4 ที่ปลูกในแปลงทดลอง ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า สิ่งทดลองต่าง ๆ ที่ให้มีผลต่อการเจริญเติบโตทาง Vegetative โดยที่แปลงที่ได้รับยูเรียทางใบ แปลงเพิ่มแสง และแปลงบังร่มเงาจะมีการเจริญเติบโตมากกว่าแปลงเปรียบเทียบ และแปลงเด็ดใบ ตามลำดับ สำหรับตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ สจ.4 ที่เก็บเกี่ยวจากแปลงทดลองนั้น เมื่อได้ตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ด้วยวิธีทดสอบความงอกมาตรฐาน ความงอกเมื่อเพาะได้ 5 วัน น้ำหนักแห้งของต้นอ่อนพบว่าในระยะแรกเมล็ดพันธุ์จากแปลงทดลองที่เด็ดใบจะมีความแข็งแรงสูงสุดเพราะเมล็ดถึงระยะแก่ทางสรีระก่อนเมล็ดจากแปลงอื่น แต่จะมีอัตราการเสื่อมของเมล็ดเร็วที่สุดเมื่อทิ้งไว้ในแปลงนานขึ้น (เพราะมีขนาดเล็กที่สุด) ส่วนแปลงที่มีการให้ปุ๋ยยูเรียทางใบ แปลงที่มีการเพิ่มแสง แปลงที่มีการบังร่มเงา และแปลงเปรียบเทียบ คุณภาพเมล็ดพันธุ์ มีอัตราการเสื่อมสูงขึ้นตามลำดับ เพราะปัจจัยดังกล่าวทำให้องค์ประกอบภายในของเมล็ดแตกต่างกัน เช่น ปริมาณโปรตีน แป้ง และไขมัน ทำให้ขนาดของเมล็ดพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวจากแปลงที่ให้สิ่งทดลองดังกล่าว มีขนาดแตกต่างกันด้วย จึงพอสรุปได้ว่าปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ ดังนั้นในการผลิตเมล็ดพันธุ์ควรมีการเขตกรรมที่เหมาะสมและควรเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์เมื่อถึงระยะแก่ทางสรีระ แต่ถ้ามีฝนตกในระยะนี้ควรรีบเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ให้เร็วที่สุด