ผลของอายุการเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว พันธุ์กำแพงแสน 1 และกำแพงแสน 2
บัวกัน วาจาสัตย์
วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชไร่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2533. 82 หน้า.
2533
บทคัดย่อ
การศึกษาผลของอายุการเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาที่มีต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ถั่วเขียว
พันธุ์กำแพงแสน 1 และ 2 นั้น ได้ทำการทดลอง ณ ศูนย์พัฒนาพืชผักแห่งเอเชีย (AVRDC) และหน่วยเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ในปี 2530 วางแผนการทดลองแบบ randomized complete block design ประกอบด้วย 7 ระยะการเก็บเกี่ยว คือ 15 19 23 27 31 35 และ 39 วันหลังดอกบานสูงสุด สำหรับการทดสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ดำเนินการในห้องปฏิบัติการ ระหว่างเดือนมิถุนายน 2530 ถึง เดือนพฤษภาคม 2531 วางแผนการทดลองแบบ factorial in randomized complete block design ประกอบด้วย 2 ปัจจัย เมล็ดพันธุ์ที่มีอายุการเก็บเกี่ยวแตกต่างกัน 7 ระดับ และภาชนะบรรจุ 2 ชนิด คือ ถุงผ้าและถุงพลาสติก โดยเก็บรักษาในสภาพไม่ควบคุมความชื้นสัมพัทธ์และอุณหภูมิตลอดระยะเวลาการเก็บรักษา
ผลการทดลอง ปรากฏว่า ผลผลิตของเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวทั้งสองพันธุ์เพิ่มขึ้นตามอายุการเก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์เมื่ออายุ 35 และ 39 วันหลังดอกบานสูงสุดให้ผลผลิตมากที่สุด คือ 309 และ 343 กิโลกรัมต่อไร่ของถั่วเขียวพันธุ์กำแพงแสน 1 และพันธุ์กำแพงแสน 2 ตามลำดับ สำหรับคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ดีที่สุด ควรเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 15-19 วันหลังดอกบานสูงสุด และสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานกว่าเมล็ดพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวอายุมากขึ้น ซึ่งพบในถั่วเขียวทั้งสองพันธุ์ สำหรับการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ในถุงพลาสติกและถุงผ้านั้น พบว่า เมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษาไว้ในถุงพลาสติกจะยังคงมีเปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ดที่ผ่านการเร่งอายุเฉลี่ยสูงกว่าเมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษาในถุงผ้า ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในถั่วเขียวทั้งสองพันธุ์ และคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์กำแพงแสน 1 มีแนวโน้มดีกว่าเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์กำแพงแสน 2