บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาดัชนีการเก็บเกี่ยว การทำ precooling การบรรจุและการเก็บรักษาฝักกระเจี๊ยบเขียว

เบ็ญจวรรณ ชุติชูเดช

วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (เกษตรศาสตร์)) สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2534. 115 หน้า.

2534

บทคัดย่อ

การศึกษาดัชนีการเก็บเกี่ยว การทำ precooling การบรรจุและการเก็บรักษาฝักกระเจี๊ยบเขียว

การศึกษาการเจริญเติบโตของฝักกระเจี๊ยบเขียวพันธุ์ OK # 2 ที่สร้างบนลำต้นประธานในช่วงอายุ 1 – 12 วันหลังดอกบาน ระหว่างเดือนมีนาคม – มิถุนายน 2532 พบว่าการเจริญเติบโตของฝักในส่วนของความยาวฝัก เส้นผ่าศูนย์กลางฝัก ความหนาเนื้อฝัก เส้นผ่าศูนย์กลางเมล็ด และน้ำหนักฝักสด มีลักษณะเป็น single sigmoidal curve ผักมีปริมาณ soluble solids ในเนื้อฝักและเมล็ด ปริมาณกรดและปริมาณเส้นใยในเนื้อฝักเพิ่มขึ้น และมีปริมาณไวตามินซีและปริมาณเพคคินลดลงเมื่อฝักมีอายุเพิ่มขึ้น ลักษณะที่สามารถนำมาใช้เป็นดัชนีในการเก็บเกี่ยวคือ ความยาวฝักโดยพบว่าฝักในช่วงอายุ 4 – 5 วันหลังดอกบานมีลักษณะทางกายภาพและชีวเคมีที่เหมาะสม โดยฝักมีความยาว 6.23 – 9.54 เซนติเมตร มีปริมาณ soluble solids ในเมล็ดและปริมาณไวตามินซีในเนื้อฝักมากกว่าฝักอายุอื่น ๆ 

ความสำพันธ์ระว่างคุณภาพของฝักกระเจี๊ยบเขียว อายุ 4 และ 5 วัน กับตำแหน่งข้อที่สร้างผักบนลำต้นประธาน พบว่าฝักทั้ง 2 อายุที่สร้างในข้อที่ 1 – 15  มีลักษณะทางกายภาพดีกว่าฝักที่สร้างขึ้นจากข้อที่ 16 – 30  และ 31 – 45 ตามลำดับ ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีพบว่าไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ

การศึกษาภาชนะบรรจุสำหรับฝักกระเจี๊ยบเขียว 3 วิธี พบว่าฝักที่บรรจุใส่ถาดโฟมหุ้มฟิล์มพลาสติกมีพีวีซีแล้วใส่กล่องกระดาษลูกฟูกเก็บรักษาที่ 10 ° ซ ยังคงความสดและมีอายุการเก็บรักษาได้นานกว่าฝักที่บรรจุใส่ถุงตาข่ายไนลอนแล้วใส่กล่องกระดาษลูกฟูก และฝักที่บรรจุใส่กล่องกระดาษลูกฟูกโดยตรงเก็บรักษาที่ 10 ° และ 15° ซ.

การลดอุณหภูมิของฝักกระเจี๊ยบเขียวภายหลังเก็บเกี่ยว 2 วิธีคือน้ำเย็นและห้องเย็น  

(10 ° – 12 °  ซ.) เป็นเวลา 1 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับการผึ่งฝักในสภาพอุณหภูมิห้อง

(26.6 ° ซ. ความชื้นสัมพัทธ์ 60% ) นาน 1 ชั่วโมง เก็บรักษาที่ 10°  และ 15 ° ซ  พบว่าฝักที่ผึ่งในสภาพอุณหภูมิห้องภายหลังเก็บเกี่ยวแล้วเก็บรักษาที่ 10 ° ซ. มีอายุเก็บรักษานานกว่าการลดอุณหภูมิด้วยวิธีอื่น ๆ

            การผึ่งฝักในสภาพอุณหภูมิห้อง (28.5° – 29 ° ซ. ความชื้นสัมพัทธ์ 60% ) ภายหลังเก็บเกี่ยวนาน 1 2 และ3 ชั่วโมง เก็บรักษาที่ 10 ° และ 15° ซ. พบว่าฝักที่ใช้เวลาผึ่งนาน 1 ชั่วโมงมีการสูญเสียน้ำหนักและคุณภาพอื่น ๆ น้อยกว่าและมีอายุเก็บรักษานานกว่าการผึ่งนาน 2 และ 3 ชั่วโมง

            การจำลองสภาพอุณหภูมิขนส่ง 3 ระดับคือ 15 °  20 °  และ 25 °  ซ.  นาน 1 วันแล้วนำไปเก็บรักษาที่ 18° ซ.  พบว่าฝักที่ใช้อุณหภูมิระหว่างการขนส่ง 15 ° ซ. มีความสดมากกว่าการใช้อุณหภูมิระหว่างการขนส่ง 20 ° และ 25° ซ.