การควบคุมโรคขั้วผลเน่าของมะม่วงโดยใช้ยีสต์
มณฑาทิพย์ เสาร์ห้า
วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (เกษตรศาสตร์)) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. 2540. 65 หน้า
2540
บทคัดย่อ
การปลูกเชื้อด้วยเส้นใยเชื้อรา Lasiodiplodia theobromae บริเวณใกล้ขั้วผลมะม่วงพบว่าเส้นใยของเชื้อราเจริญเข้าหาขั้วผลและเจริญเข้าเนื้อเยื่อบริเวณขั้วผล ส่วน conidia เมื่องอก germtube แล้วเจริญเข้าไปในเนื้อเยื่อบริเวณแผลที่ขั้วผล เมื่อเริ่มเกิดโรคพบเส้นใยจำนวนมากเจริญปกคลุมที่บริเวณขั้วผล การทดสอบเชื้อยีสต์ 12 ชนิด เชื้อยีสต์ที่สามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อรา L. theobromae ได้ดีที่สุดคือ Rhodotorala sp. รองลงมาคือ Hansenula saturnus ส่วนการยับยั้งการงอก conidia ของเชื้อรา L. theobromae โดยการฉีดพ่น conidial suspension ก่อนและหลังฉีดพ่น yeast suspension เป็นเวลา 1 ชั่วโมง และการฉีดพ่นทั้ง yeast suspension และ conidial suspension ในเวลาเดียวกัน พบว่าทั้ง 3 วิธี สามารถยับยั้งการงอก conidia ของเชื้อราดังกล่าวไม่ได้แตกต่างกัน เมื่อทดสอบเชื้อยีสต์ทั้ง 12 ชนิด ในการยับยั้งการเกิดโรคผลเน่าได้ดีที่สุด โดยมีเชื้อยีสต์ Pichia membranaefaciens สามารถควบคุมการเกิดโรคผลเน่าบนผลกล้วยหอมพบว่า เชื้อยีสต์ Pichia membranaefaciens สามารถควบคุมการเกิดโรคผลเน่าได้ดีที่สุด โดยมีเชื้อยีสต์ Candida tropicalis และ Hansenula saturnus อยู่ในระดับที่รองลงมาตามลำดับ เมื่อทดสอบบนผลมะม่วงเชื้อยีสต์ C. tropicallis (5.58 x 10 7 cfu/ml) มีประสิทธิภาพดีที่สุด ในการควบคุมโรคขั้วผลเน่าของมะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งเกิดจากเชื้อรา L. theobromae รองลงมาคือ H. saturnus และ Saccharomyces cerevisiae และเชื้อยีสต์ทั้ง 3 ชนิดไม่สร้างสารที่เป็นพิษในการยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อรา L. theobromae บนอาหารเลี้ยงเชื้อ โดยที่เชื้อยีสต์
C. tropicalis มีผลต่อการงอก conidia ของเชื้อราดังกล่าว การใช้เชื้อยีสต์ C. tropicalis ร่วมกับการดัดแปลงบรรยากาศโดยจัดใส่ถาดโฟมและหุ้มด้วยแผ่นฟิล์มพลาสติก M Wrap บ่มไว้ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส สามารถลดการเกิดโรคขั้วผลเน่าของมะม่วงที่เกิดจากเชื้อรา L. theobromae ได้ 26.67 เปอร์เซ็นต์