บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสารละลายอลูมินั่มซัลเฟตร่วมกับน้ำตาลซูโครสต่ออายุการปักแจกันของดอกกุหลาบ

กาญจนา เหลืองสุวาลัย และ โสภา ชวนชนะชัย

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 38 ฉบับที่ 5 (พิเศษ). 2550. หน้า 115-118.

2550

บทคัดย่อ

ผลของสารละลายอลูมินั่มซัลเฟตร่วมกับน้ำตาลซูโครสต่ออายุการปักแจกันของดอกกุหลาบ

การศึกษาระดับความเข้มข้นที่เหมาะสมของอลูมินั่มซัลเฟต เพื่อใช้ในการยืดอายุการปักแจกันของดอกกุหลาบสีแดงพันธุ์ซารา  โดยใช้สารละลายอลูมินั่มซัลเฟตความเข้มข้น  25  50  75  100  125  150  175  และ  200 มก/ล  ร่วมกับซูโครส 5%  ปักแจกันที่อุณหภูมิ  27 + 2  องศาเซลเซียส  และความชื้นสัมพัทธ์  70 - 75% พบว่า  การใช้สารอลูมินั่มซัลเฟตความเข้มข้น 175 มก/ล ร่วมกับน้ำตาลซูโครส 5%  มีอายุการปักแจกันเฉลี่ยนานที่สุด  8.8  วัน  รองลงมาคือ อลูมินั่มซัลเฟตความเข้มข้น  200  150  125  100  75  50  และ  25  มก/ล ตามลำดับ โดยอายุการปักแจกันของดอกกุหลาบ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับอายุการปักแจกันของดอกกุหลาบที่ปักแจกันในน้ำกลั่นเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีอายุการปักแจกันเฉลี่ยเพียง  2.9  วัน  และเมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของสารละลายอลูมินั่มซัลเฟต 175 มก/ล ร่วมกับซูโครส 5%กับ HQS250 มก/ล ร่วมกับซูโครส 5%และไฟแซน-20  150  มก/ล ร่วมกับซูโครส 5%  พบว่าการใช้สารสารละลายอลูมินั่มซัลเฟต 175 มก/ล ร่วมกับซูโครส 5%สามารถยืดอายุการปักแจกันของ ดอกกุหลาบได้นานที่สุด รองลงมาคือสารละลาย HQSและไฟแซน-20  รวมทั้งช่วยชะลอการลดลงของน้ำหนักสด  ช่วยให้ดอกกุหลาบการดูดน้ำได้ดี นอกจากนี้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดช่วยลดอาการโค้งงอบริเวณคอดอก  ชะลอการเหี่ยวของกลีบดอกและใบ  และลดการเปลี่ยนสีของกลีบดอก