บทคัดย่องานวิจัย

ระบบการผลิตผักที่ดีและประสิทธิภาพของสารล้างผักเพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์

บุษรา จันทร์แก้วมณี พัจนา สุภาสูรย์ ชวเลิศ ตรีกรุณาสวัสดิ์ เกรียงไกร สุภโตษะ สวรรณมนท์ เหล็กเพ็ชร์ รัตตา สุทธยาคม อุมาพร สีวิลัย วฤษณี ขาวเขียว รุ่งทิวา รอดจันทร์ และ สุรชัย ศิริพัฒน์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 38 ฉบับที่ 5 (พิเศษ). 2550. หน้า 131-135.

2550

บทคัดย่อ

ระบบการผลิตผักที่ดีและประสิทธิภาพของสารล้างผักเพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์

การผลิตผักสดที่ดีให้ปลอดเชื้อจุลินทรีย์เพื่อความปลอดภัยสำหรับบริโภคต้องควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนตั้งแต่  การปฏิบัติที่ดีในแปลงปลูก (GAP : Good Agricultural Practices)  การเก็บเกี่ยว  การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว  การผลิตที่ดีในโรงคัดบรรจุ (GMP : Good Manufacturing Practices)  การขนส่ง  ตลอดจนถึงปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องในการผลิต  การบริโภคผักผลไม้สดในปัจจุบันมีปริมาณสูงขึ้น  โดยเฉพาะในกลุ่มพืชสมุนไพรซึ่งเป็นพืชอาหารเพื่อสุขภาพเป็นที่นิยมทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ  วิธีการลดการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ในโรงคัด บรรจุด้วยการล้างเป็นวิธีที่นิยมและมีประสิทธิภาพดีวิธีการหนึ่งโดยใช้น้ำ เปล่าล้างหรือเติมสารต่างๆที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตหรือควบคุมปริมาณ เชื้อจุลินทรีย์ได้  สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร  ได้ทดลองเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของสารล้างผักเพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์โดยนำสารที่ใช้สำหรับล้างผัก 8 ชนิด ได้แก่ คลอรีน  น้ำยาล้างผักTego  น้ำยาล้างผักพระพร5  น้ำยาล้างผักแอมเวย์  สารอะซิติกเอซิด(Acetic acid)  สารซิตริกเอซิด(Citric acid)  โอโซน(Ozone)  ด่างทับทิม และน้ำเปล่าเป็นกรรมวิธีควบคุม วางแผนการทดลองแบบ CRD9 กรรมวิธี 3 ซ้ำ ทดลองล้างผัก 8  ชนิด คือ สะระแหน่ ใบกระเพรา ใบโหระพา ผักแขยง ผักแพว ผักชีฝรั่ง ต้นหอม และผักชีไทย ผลการทดลองพบว่า การใช้สารคลอรีน 150 ppm และน้ำยาล้างผักTego 0.5% สามารถลดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ ในผักสดทั้ง 8 ชนิดได้ แต่จะลดได้ไม่เกิน 10,000 cfu/g สำหรับเชื้อ Escherichia coli.