อิทธิพลของสารเคลือบผิวจากเชลแลคและไขรำข้าวต่อผลไม้ตระกูลส้ม
ปนัดดา ตุ้งสวัสดิ์ อนุวัตร แจ้งชัด และ กมลวรรณ แจ้งชัด
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 38 ฉบับที่ 5 (พิเศษ). 2550. หน้า 144-147.
2550
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสารเคลือบผิวจากไขรำข้าวและเชลแลคสำหรับส้มเขียวหวานพันธุ์สายน้ำผึ้ง จากการสำรวจสารเคลือบส้มทางการค้า พบว่า มีค่าคุณภาพทางกายภาพและเคมี ดังนี้ ลักษณะปรากฏ เป็นของเหลว ขุ่น สีขาว, สีน้ำตาลอ่อนจนถึงเข้ม และมีความเป็นเนื้อเดียวกัน ความสามารถในการเกาะติดผิว, ความหนืด, ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ทั้งหมด (TSS) ความเป็นกรด –เบส (pH) เท่ากับ 9.26 – 36.07 กรัมต่อตารางเมตร, 2.18 – 13.23 เซนติพอยส์, 9.70 – 29.10 องศาบริกซ์ และ 8.67 – 9.63 ตามลำดับ ไขรำข้าวบริสุทธิ์ที่ศึกษา โดยสกัดไขรำข้าวด้วยเฮกเซนและไอโซโพรพานอล มีลักษณะเป็นผง สีครีม มีค่าไอโอดีน, ค่าสะพอนิฟิเคชัน และค่าความเป็นกรด (acid value) เท่ากับ 8.90 mg KOH/g,84.80 mg KOH/g และ 0.44 ตามลำดับ มีจุดหลอมเหลวเท่ากับ 80±2 องศาเซลเซียส จากการศึกษาปริมาณไขรำข้าวและเชลแลคต่อคุณภาพของสารเคลือบ โดยใช้แผนการทดลองแบบ central composite design (CCD) ศึกษาปริมาณไขรำข้าว ร้อยละ 2.00–5.00และปริมาณเชลแลค ร้อยละ 10.00–12.00 พบว่า ปริมาณไขรำข้าวและเชลแลคร้อยละ 2.00 และ 11.00 ตามลำดับ มีความเหมาะสมในการผลิตเป็นสารเคลือบส้ม จากการทดลองประยุกต์ใช้สารเคลือบในส้มเขียวหวานที่ความเข้มข้นต่างกัน พบว่า ที่ความเข้มข้นร้อยละ 50 สามารถยืดอายุการเก็บรักษาจาก 12 วัน เป็น 24 วัน ที่อุณหภูมิ 25±2 องศาเซลเซียส, ความชื้นสัมพัทธ์ ร้อยละ 75±2 โดยมีอัตราการสูญเสียน้ำหนักและอัตราการเน่าเสียของส้มเขียวหวาน เท่ากับร้อยละ 17.00 และ 6.45 ตามลำดับ