การตรวจสอบความทนทานต่อสารกำจัดเชื้อราคาร์เบนดาซิมของเชื้อรา Colletotrichumspp. สาเหตุโรคแอนแทรคโนสในมะม่วง
สุธาสินี ชัยชนะ และ สรัญยา ณ ลำปาง
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 38 ฉบับที่ 5 (พิเศษ). 2550. หน้า 205-208.
2550
บทคัดย่อ
เก็บรวบรวมตัวอย่างและแยกเชื้อรา Colletotrichum spp.จากผลมะม่วงที่เป็นโรคแอนแทรคโนส ภายในจังหวัดเชียงใหม่ ศึกษาความทนทานต่อสารป้องกันกำจัดเชื้อราคาร์เบนดาซิม (Bavistin® FL 50% W/V F.) โดยเลี้ยงเส้นใยเชื้อราบนอาหาร potato dextrose agar(PDA) ที่ผสมสารคาร์เบนดาซิม 6 ระดับความเข้มข้น:0.1, 1, 10, 100, 500, และ 1000 ppm โดยเปรียบเทียบการเจริญกับชุดควบคุม และประเมินระดับความทนทานของเชื้อราต่อสารคาร์เบนดาซิมเป็น 4 ระดับคือ ทนทานมาก (HR), ทนทานปานกลาง (MR), ทนทานน้อย (WR), และไม่ทนทาน (S;สายพันธุ์ปกติ)จากการทดสอบเชื้อรา Colletotrichum spp.จำนวน 40 ไอโซเลท พบเชื้อราที่ทนทานต่อสารคาร์เบนดาซิมในระดับสูง (HR)จำนวน 26 ไอโซเลท และเชื้อราที่ไม่ทนทานต่อสารคาร์เบนดาซิม (S)จำนวน 14 ไอโซเลท โดยในการทดสอบครั้งนี้ไม่พบเชื้อราที่มีความทนทานปานกลาง (MR) และเชื้อราที่มีความทนทานน้อย (WR) เมื่อทดสอบสารคาร์เบนดาซิมต่อการงอกและการเจริญของสปอร์เชื้อรา Colletotrichum spp.บนเยื่อหอม พบว่าสารคาร์เบนดาซิมความเข้มข้น 500 ppm ไม่ยับยั้งการงอกและการเจริญของสปอร์เชื้อราทั้งสายพันธุ์ปกติ (S) และสายพันธุ์ที่ทนทานต่อสารคาร์เบนดาซิมในระดับสูง (HR)