บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาผลร่วมของการใช้ก๊าซ SO2 แบบ slow release กับถุงพลาสติกชนิดต่างๆ ต่อการควบคุมโรคผลเน่าของลำไยพันธุ์ดอในระหว่างการเก็บรักษา

ผ่องเพ็ญ จิตอารีย์รัตน์ และ อภิรดี อุทัยรัตนกิจ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 38 ฉบับที่ 5 (พิเศษ). 2550. หน้า 209-212.

2550

บทคัดย่อ

การศึกษาผลร่วมของการใช้ก๊าซ SO2 แบบ slow release กับถุงพลาสติกชนิดต่างๆ ต่อการควบคุมโรคผลเน่าของลำไยพันธุ์ดอในระหว่างการเก็บรักษา

โรคผลเน่าเป็นปัญหาที่สำคัญของการขนส่งลำไยทางเรือ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการควบคุมโรคผลเน่าของลำไยพันธุ์ดอ โดยการบรรจุลำไยในถุงพลาสติกแอ็คทีฟ ถุงโพลีเอทิลีน และถุงโพลีโพรพิลีน และรมด้วยก๊าซ SO2 แบบ slow release ด้วยแผ่น SO2 grape guardsในถุงพลาสติกชนิดต่างๆ จำนวน 2 แผ่น หรือ 3 แผ่น/ถุง  ส่วนลำไยที่บรรจุในถุงแต่ไม่ใส่แผ่น SO2 grape guards เป็นชุดเปรียบเทียบ จากนั้นเก็บรักษาลำไยไว้ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 95 นาน 28 วัน ผลการทดลองพบว่า การบรรจุลำไยในถุงโพลีโพรพิลีนร่วมกับ SO2 grape guards จำนวน 3 แผ่น/ถุง สามารถยับยั้งการเกิดโรคผลเน่าได้สมบูรณ์ แต่มีผลทำให้เปลือกของลำไยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลมากที่สุดและเกิดกลิ่นหมักขึ้นภายในถุง ตลอดจนผู้บริโภคให้คะแนนการยอมรับน้อยที่สุด ในขณะที่ลำไยที่บรรจุในถุงแอคทีฟร่วมกับ SO2 grape guards จำนวน 3 แผ่น/ถุง สามารถชะลอการเกิดโรคผลเน่าได้ดี โดยมีการเกิดโรคผลเน่าเท่ากับ 11.42เปอร์เซ็นต์ และสามารถชะลอการเกิดสีน้ำตาลที่เปลือกได้ดีที่สุด ตลอดจนมีคะแนนการยอมรับจากผู้บริโภคสูง