บทคัดย่องานวิจัย

ใยอาหารทั้งหมด เพคติน และลิกนิน ในเปลือกผลลำไยพันธุ์ดอระหว่างเกิดอาการสะท้านหนาว

สมคิด ใจตรง นิธิยา รัตนาปนนท์ ดนัย บุณยเกียรติ และ อลิทซาเบธ บาวด์วิน

บทคัดย่อ การประชุมวิชาการวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 5, โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร, 28-29 มิถุนายน 2550. 151 หน้า.

2550

บทคัดย่อ

ใยอาหารทั้งหมด เพคติน และลิกนิน ในเปลือกผลลำไยพันธุ์ดอระหว่างเกิดอาการสะท้านหนาว

เปลือกผลลำไยพันธุ์ดอปกติและระหว่างเกิดอาการสะท้านหนาว ซึ่งเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 2 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90±5% โดยกำหนดระยะการเกิดอาการสะท้านหนาวด้วยการให้คะแนนเป็น 4 ระดับ คือ ไม่มีจุดสีน้ำตาล เกิดจุดสีน้ำตาลฉ่ำน้ำ 1-35%, >35-70% และ >70-100% ของพื้นที่ผิวด้านในของเปลือก เป็นคะแนน 1-4 ตามลำดับ วิเคราะห์หาความชื้นเปลือก และวิเคราะห์หาปริมาณใยอาหารทั้งหมด เพกทิน และลิกนิน จากเปลือกลำไยที่ทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง ผลการทดลองพบว่าเปลือกผลลำไยสด มีความชื้น 55% มีปริมาณใยอาหารทั้งหมด เพกทิน และลิกนิน เป็น 7.26, 0.89 และ 0.019 กรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง ตามลำดับ ผลลำไยเริ่มแสดงอาการสะท้านหนาวระดับ 2 เมื่อเก็บรักษาเป็นเวลา 4 วัน และเกิดอาการสะท้านหนาวระดับ 3 และ 4 เมื่อเก็บรักษาเป็นเวลา 8 และ 10 วัน ตามลำดับ ระหว่างเกิดอาการสะท้านหนาวระดับ 2, 3 และ 4 เปลือกลำไยมีความชื้น 49.63%, 44.61% และ 35.87% มีปริมาณใยอาหารทั้งหมด 7.53, 7.47 และ 7.44 กรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง เพกทิน 0.87, 0.85 และ 0.81 กรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง และลิกนิน 0.017, 0.018 และ 0.017 กรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง ผลลำไยพันธุ์ดอที่เกิดอาการสะท้านหนาวระดับ 4 เปลือกลำไยมีความชื้นลดลง 34.78% ใยอาหารทั้งหมดเพิ่มขึ้น 2.48% เพกทินลดลง 8.89%และลิกนินไม่เปลี่ยนแปลง