บทคัดย่องานวิจัย

ยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างเอทิลีนในดอกกล้วยไม้

พัฒนา ศรีฟ้า ฮุนเนอร์ มณทินี ธีรารักษ์ ปรารถนา เผือกวิไล ถาวรยศ อภิชาตะพงศ์ และ นพมาศ โลกคำลือ

บทคัดย่อ การประชุมวิชาการวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 5, โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร, 28-29 มิถุนายน 2550. 151 หน้า.

2550

บทคัดย่อ

ยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างเอทิลีนในดอกกล้วยไม้

กล้วยไม้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของการผลิตดอกกล้วยไม้คือ ดอกเหี่ยวเร็วขณะปลูกและระหว่างขนส่ง อันเป็นสาเหตุมาจากเอทิลีน จากการโคลนยีนที่เกี่ยวข้องกับเอทิลีนในดอก 3 ชนิด คือ 1-aminocyclopropane-1-carboxylate oxidase (ACO), 1-aminocyclopropane-1-carboxylate synthase (ACS)  และ Ethylene receptor (ETR)  ที่แยกจากดอกกล้วยไม้สกุลแวนด้ามิสโจคิมที่ไวต่อการสร้างเอทิลีน และกล้วยไม้ออนซิเดียมที่ไม่ไวต่อเอทิลีน พบว่าการจัดเรียงตัวเลขของกรดอะมิโนองค์ประกอบของโปรตีน ACC oxidase, ETR และ ACC synthase ขนาดความยาว 230, 255 และ 445 เรซิดิว ตามลำดับ แสดงความเหมือนและแตกต่างกับโปรตีนชนิดเดียวกันในกล้วยไม้ที่มีรายงานในฐานข้อมูล โดยพบว่า ทั้ง ACC oxidase และ ETR ของกล้วยไม้มิสโจคิมมีองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกับยีนในกล้วยไม้สกุลฟาแรนนอปซิสถึงร้อยละ 95 และ 94 ส่วน ACC synthase ของออนซิเดียมมีองค์ประกอบคล้ายกับโปรตีนชนิดเดียวกันของกล้วย และข้าวสาลี คิดเป็นร้อยละ 68 และ 64 ตามลำดับ ดังนั้นการยับยั้งการสร้าง ACC oxidase จึงน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการยับยั้งการสร้างเอทิลีนในดอกกล้วยไม้ได้ในอนาคต