บทคัดย่องานวิจัย

การ คัดเลือกเชื้อแบคทีเรียที่มีคุณสมบัติผลิตเอนไซม์ไคติเนสจากดินบริเวณบ่อ กุ้งเพื่อใช้เป็นแบคทีเรียปฏิปักษ์ต่อเชื้อราสาเหตุโรคขั้วหวีเน่าของกล้วย หอมทอง

กัลยา ศรีพงษ์ ผ่องเพ็ญ จิตอารีย์รัตน์ วาริช ศรีละออง และสุพรรนี อะโอกิ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 39 ฉบับที่ 3 (พิเศษ). 2551. หน้า 31-34.

2551

บทคัดย่อ

การ คัดเลือกเชื้อแบคทีเรียที่มีคุณสมบัติผลิตเอนไซม์ไคติเนสจากดินบริเวณบ่อ กุ้งเพื่อใช้เป็นแบคทีเรียปฏิปักษ์ต่อเชื้อราสาเหตุโรคขั้วหวีเน่าของกล้วย หอมทอง

การคัดเลือกเชื้อแบคทีเรียที่สามารถผลิตเอนไซม์ไคติเนสจากดินบริเวณบ่อกุ้งบนอาหาร Chitin selective agar พบว่ามีเชื้อแบคทีเรีย 5 ไอโซเลต (A5 A23 C23 E9 และ F10) ที่เจริญบนอาหารแล้วทำให้เกิดวงใส (clear zone) ขนาดใหญ่ที่สุด คือมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.1-1.6 เซนติเมตร เมื่อตรวจวัดกิจกรรมของเอนไซม์ไคติเนส พบว่าแบคทีเรีย A23 มีกิจกรรมของเอนไซม์ไคติเนสมากที่สุด (0.58 Unit/ml)การทดสอบความสามารถของเชื้อ แบคทีเรียเหล่านี้ในการเป็นปฏิปักษ์ต่อเชื้อราสาเหตุโรคขั้วหวีเน่าของกล้วยหอมทอง ได้แก่ Colletotrichum musae Lasiodiplodia theobromea และFusarium sp. ด้วย Filterpaper disc method พบว่าแบคทีเรีย A23 สามารถยับยั้งการเจริญทางเส้นใยของเชื้อรา C. musae  ได้เพียงเชื้อเดียว และสามารถยับยั้งการงอกของสปอร์เชื้อรา C. musae  ได้ดีกว่าFusarium sp. และ L. theobromea ตามลำดับ เมื่อศึกษาลักษณะโครงสร้างของเส้นใยเชื้อราที่อยู่ร่วมกับแบคทีเรีย A23 ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ พบว่าแบคทีเรีย  A23 มีผลทำให้เส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรคมีลักษณะบวมพอง ขรุขระ และเส้นใยไม่ยืดยาว ดังนั้นแบคทีเรีย A23 อาจมีความเป็นไปได้ในการนำมาประยุกต์ใช้เป็นเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์เพื่อป้องกันโรคขั้วหวีเน่าของกล้วยหอมทองต่อไป