การเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีระและชีวเคมีบางประการของผลชมพู่พันธุ์ทับทิมจันทร์ในสภาวะอุณหภูมิต่ำ
จารุณี จูงกลาง
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 39 ฉบับที่ 3 (พิเศษ). 2551. หน้า 103-106.
2551
บทคัดย่อ
การเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีระและชีวเคมีบางประการของผลชมพู่พันธุ์ทับทิมจันทร์ในสภาวะอุณหภูมิต่ำ โดยเลือกชมพู่ 320 ผลมาแบ่งเป็น 2 ชุดการทดลอง คือ ชุดควบคุม ซึ่งวางผลชมพู่ไว้ที่อุณหภูมิห้อง (25 ± 2 °C) และ ชุดทดลอง ซึ่งนำผลชมพู่ไปแช่ในตู้ที่ควบคุมอุณหภูมิ 6 ± 2 องศาเซลเซียส จากนั้นวัดอาการ chilling injury, การเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำสัมพัทธ์ (relative water content; RWC),ปริมาณวิตามินซี ปริมาณ malondialdehyde (MDA; สารผลิตภัณฑ์ของกระบวนการ lipid peroxidation) และ ion leakage ในผลชมพู่โดยแยกเปลือกและเนื้อ ทุกๆ 2 วัน เป็นเวลา 8 วัน ผลการทดลองพบว่าชุดทดลองแสดงอาการ chilling injury ซึ่งเรียกว่า surface pitting ที่ผิวเปลือกผล โดยเริ่มพบอาการตั้งแต่วันที่สองเมื่อผลชมพู่ได้รับอากาศหนาวเย็น และอาการมีความรุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น เช่นเดียวกันกับปริมาณ MDA และ ion leakage ในเปลือกของผลชมพู่มีค่าเพิ่มขึ้นตามเวลาที่เพิ่มขึ้นทั้งสองชุดการทดลอง ขณะที่ค่า RWC และปริมาณวิตามินซีในผลชมพู่มีแนวโน้มที่จะลดลงเมื่อเวลานานขึ้นทั้งสองชุดการทดลอง จากอาการ surface pitting, ปริมาณ MDA และ ion leakage ในเปลือกของผลชมพู่ที่เพิ่มขึ้นเมื่อได้รับอากาศหนาวเย็นเป็นเวลานานขึ้น ชี้ให้เห็นว่าสภาวะอากาศหนาวเย็นที่ 6 องศาเซลเซียส มีผลชักนำให้เกิด chilling stress ที่ผิวเปลือกของผลชมพู่พันธุ์ทับทิมจันทร์