การผลิตสารดูดซับเอทิลีนสำหรับยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้
พิชญา บุญประสม พรชัย ราชตนะพันธุ์ และวุฒิรัตน์ พัฒนิบูลย์
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 39 ฉบับที่ 3 (พิเศษ). 2551. หน้า 107-110.
2551
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการผลิตสารดูดซับเอทิลีนโดยใช้ดินสอพองและโพแทสเซียมเปอร์แมง-กาเนตเป็นส่วนประกอบหลัก จากผลการทดลองพบว่าสารดูดซับเอทิลีนที่ใช้ 3% KMnO4 มีอัตราการดูดซับเอทิลีนใกล้เคียงกับสารดูดซับเอทิลีนที่จำหน่ายในท้องตลาด นอกจากนี้ยังพบว่าตัวอย่างสารดูดซับเอทิลีนที่อบด้วยเครื่องอบแบบ สุญญากาศมีอัตราการดูดซับเอทิลีนเร็วกว่าตัวอย่างที่อบด้วยตู้อบลมร้อน เมื่อนำสารดูดซับเอทิลีนที่ผลิตขึ้นบรรจุในซองกระดาษ 3 ชนิด ได้แก่ กระดาษสาแบบบาง, กระดาษพรูฟ และกระดาษทำโคม แล้วนำไปวัดอัตราการดูดซับเอทิลีน พบว่าการบรรจุสารดูดซับเอทิลีนในซองที่ทำจากกระดาษพรูฟมีอัตราการดูดซับเอทิลีนสูงกว่าซองที่ทำจากกระดาษทำโคมและกระดาษสาแบบบาง (p<0.05)หลังจากนำสารดูดซับเอทิลีนที่บรรจุในซองกระดาษชนิดดังกล่าวหุ้มด้วยถุงพลาสติกชนิด OPP เจาะรู ไปวัดอัตราการดูดซับก๊าซเอทิลีนเปรียบเทียบกับสารดูดซับเอทิลีนที่จำหน่ายในท้องตลาด 2 ชนิด พบว่าสารดูดซับเอทิลีนที่ผลิตขึ้นสามารถดูดซับก๊าซเอทิลีนได้เร็วกว่าสารดูดซับเอทิลีนที่จำหน่ายในท้องตลาด จากการทดสอบนำสารดูดซับเอทิลีนที่ผลิตขึ้นไปใช้ในการเก็บรักษามะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เปรียบเทียบกับสารดูดซับเอทิลีนที่จำหน่ายในท้องตลาด 2 ชนิด และสารดูดซับเอทิลีนที่ใช้ชอล์คเป็นตัวพา พบว่าสารดูดซับเอทิลีนที่ผลิตขึ้นและสารดูดซับเอทิลีนที่จำหน่ายในท้องตลาด สามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ได้เป็นระยะเวลา 12 วัน ในขณะที่สารดูดซับเอทิลีนที่ใช้ชอล์คเป็นตัวพาสามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ได้เป็นระยะเวลา 9 วัน