การศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาหลังการเก็บเกี่ยวของผลชมพู่พันธุ์ทับทิมจันท์
วิชุดา สมส่วน วชิรญา อิ่มสบาย สายชล เกตุษา และกวิศร์ วานิชกุล
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 39 ฉบับที่ 3 (พิเศษ). 2551. หน้า 139-143.
2551
บทคัดย่อ
ชมพู่พันธุ์ทับทิมจันท์เป็นผลไม้เขตร้อนที่นิยมปลูกและบริโภคในปัจจุบัน เนื่องจากมีจุดเด่นที่สีสันและรสชาติดีกว่าพันธุ์อื่น ๆ แต่ยังมีการศึกษาการเปลี่ยนแปลงหลังการเก็บเกี่ยวค่อนข้างน้อย ดังนั้นจึงทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงหลังการเก็บเกี่ยว โดยเก็บเกี่ยวผลชมพู่เมื่อมีอายุประมาณ 45วันหลังดอกบาน และนำมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 25±1°Cความชื้นสัมพัทธ์ 66.5%เป็นเวลา 7 วัน และทำการตรวจวัดคุณภาพผลทุกวัน พบว่าผลชมพู่มีการเปลี่ยนแปลงสีผิวน้อยมากหลังการเก็บเกี่ยว ขณะที่การสูญเสียน้ำหนักเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับความแน่นเนื้อส่วนขั้วผลที่ลดลงตลอดระยะเวลาการเก็บรักษา แต่ความแน่นเนื้อส่วนกลางผลและส่วนก้นผลค่อนข้างคงที่ ส่วนปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ และปริมาณวิตามินซีค่อนข้างคงที่เช่นเดียวกัน โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.16%11°Brixและ 5.44 mg/100gFW ตามลำดับ และผลชมพู่พันธุ์ทับทิมจันท์มีอัตราการหายใจและการผลิตเอทิลีนในระดับที่ต่ำและไม่เปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาเก็บรักษา