การสำรวจขั้นตอนการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีของเห็ดที่มีผลต่อคุณภาพเห็ดหลังการเก็บเกี่ยวภาคเหนือตอนบน
ศิริพร หัสสรังสี และ อภิรัชต์ สมฤทธิ์
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 39 ฉบับที่ 3 (พิเศษ). 2551. หน้า 147-150.
2551
บทคัดย่อ
การสำรวจขั้นตอนการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีของเห็ดที่มีผลต่อคุณภาพเห็ดหลังการเก็บเกี่ยว ภาคเหนือตอนบน ดำเนินการที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงรายและลำพูน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญในการผลิตเห็ดของภาคเหนือตอนบน ในปี 2548-2549 มีวัตถุประสงค์ในการติดตามกระบวนการ GAP ในฟาร์มเห็ดหอมและเห็ดนางรมของผู้ผลิตเห็ดจำนวน 45 ราย โดยการตรวจเยี่ยมฟาร์มและสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ผลิตเห็ด มีประเด็นในการพิจารณา 11ประเด็น คือ 1) เชื้อเห็ด 2) สภาพโรงเรือน 3)สภาพวัสดุอุปกรณ์ 4) คุณภาพน้ำ 5) ความสะอาดและสุขอนามัย 6) การจัดการศัตรูเห็ด 7) สุขอนามัยของผู้เพาะเห็ดและสิ่งอำนวยความสะดวก 8) การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง 9) การตรวจสอบย้อนกลับ 10) การฝึกอบรม และ 11)กระบวนการในการควบคุมจุดวิกฤต พบว่าเกษตรกร ร้อยละ 80 มีการจัดการในประเด็นที่ 1 2 3 4 7 และ 10เกษตรกรร้อยละ 40 มีการจัดการในประเด็น 6 เกษตรกรร้อยละ 10มีการจัดการด้าน 5 และ 8 ส่วนเกษตรกรเพียงร้อยละ 3 ที่มีการจัดการด้าน 9 และ 11 แสดงให้เห็นว่าการผลิตเห็ดระบบ GAP ของเกษตรกรภาคเหนือ ยังมีการจัดการด้านการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่งที่ยังไม่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตเห็ดสดของประเทศไทยยังไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ผลการสำรวจครั้งนี้จะนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรในการให้ความสำคัญกับการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวที่ดีขึ้น เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติด้าน GAP ที่สมบูรณ์และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพต่อไป