ผลของการเพิ่มน้ำตาลซูโครสต่อการรักษาสีกลีบดอกและอายุการปักแจกันของดอกบัวอุบลชาติพันธุ์ฉลองขวัญ
มานะบุตร ศรียงค์ มัณฑนา บัวหนอง ทรงศิลป์ พจน์ชนะชัย อภิรดี อุทัยรัตนกิจ ณ นพชัย ชาญศิลป์ และเฉลิมชัย วงษ์อารี
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 39 ฉบับที่ 3 (พิเศษ). 2551. หน้า 225-228.
2551
บทคัดย่อ
บัวในกลุ่มอุบลชาติ (Nympaea spp.) เป็นบัวที่มีสีสันสวยงาม แต่มีการเปลี่ยนแปลงสีของกลีบดอกเร็ว และอายุการปักแจกันสั้น การศึกษาเพื่อยืดอายุการปักแจกันโดยการเพิ่มสารอาหาร (การทำพัลซิ่ง) โดยการปักดอกบัวพันธุ์ฉลองขวัญในสารละลายซูโครสที่มีความเข้มข้นแตกต่างกัน นาน 4 ชั่วโมง ก่อนนำมาปักในน้ำกลั่นและเก็บรักษาในห้องควบคุมอุณหภูมิที่ 25±2 องศาเซลเซียส จากการทดลองพบว่า มีความแตกต่างของน้ำหนักสดระหว่างชุดการทดลอง ในช่วงระยะเวลา 12 ชั่วโมงแรกเท่านั้น จากระยะเวลา 3 วันของการทดลอง โดยพบว่าดอกบัวที่ทำพัลซิ่งในสารละลายซูโครสความเข้มข้นร้อยละ 4 มีร้อยละการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักน้อยที่สุด เมื่อทำการวัดอัตราการหายใจและการผลิตเอทิลีน พบว่า ดอกบัวพันธุ์ฉลองขวัญมีรูปแบบการหายใจและการผลิดเอทีลีนเป็นแบบ climacteric โดยในทุกชุดการทดลองจะมีอัตราการผลิดเอทีลีนสูงสุดในชั่วโมงที่ 48 ในขณะที่มีอัตราการหายใจสูงสุด ในชั่วโมงที่ 12 ยกเว้นดอกบัวที่ทำการพัลซิ่งในสารละลายซูโครสความเข้มข้นร้อยละ 4 ที่จะเกิดขึ้นในชั่วโมงที่ 24เมื่อทำการเปรียบเทียบระหว่างค่า L และ Hue พบว่าสีม่วงของกลีบดอกบัวที่ทำการพัลซิ่ง มีสีที่สดใสขึ้นหลังจากการปักแจกัน 1 วัน แล้วจะคล้ำลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุดควมคุมที่ทำการพัลซิ่งด้วยน้ำกลั่น แต่อย่างไรก็ตามพบว่าไม่มีความแตกต่างของปริมาณแอนโธไซยานินในกลีบดอกของแต่ละชุดการทดลองในระหว่างการปักแจกัน ดอกบัวพันธุ์ฉลองขวัญที่ทำการพัลซิ่งด้วยสารละลายซูโครสความเข้มข้นร้อยละ 0, 2 และ 4 มีอายุการปักแจกันไม่เกิน 3 วัน แต่ที่สารละลายซูโครสความเข้มข้นร้อยละ 8จะมีอายุการปักแจกันเพียง 0.67 วัน