ผลของสภาพบรรยากาศดัดแปลงต่อคุณภาพของส้มโอพันธุ์ทองดีในระหว่างการเก็บรักษา
เสาวภา ไชยวงศ์ และ ธีรพงษ์ เทพกรณ์
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 39 ฉบับที่ 3 (พิเศษ). 2551. หน้า 287-290.
2551
บทคัดย่อ
จากการศึกษาผลของสภาพบรรยากาศดัดแปลงต่อคุณภาพของส้มโอพันธุ์ทองดีในระหว่างการเก็บรักษา โดยเก็บเกี่ยวผลส้มโอพันธุ์ทองดีที่ระยะความบริบูรณ์เพื่อการส่งออก (อายุประมาณ 7.5 เดือนหลังดอกบาน) หลังจากนั้นนำมาเก็บรักษาในสภาพบรรยากาศดัดแปลงดังต่อไปนี้ การเคลือบผลส้มโอด้วยสาร Honra (Polyethylene wax 13%) และ Citrosol AK (Carnuba wax 18%)ซึ่งเป็นสารเคลือบส้มทางการค้า การหุ้มด้วยฟิล์มพลาสติกโพลีไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride; PVC) และการบรรจุแบบ liner (‘bag-in-box’ type) ในถุงแอคทีฟที่มีอัตราการซึมผ่านก๊าซออกซิเจน (Oxygen Transmission Rate; OTR) 17,000 cc./m2.day โดยเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10oC นาน 60 วัน ระหว่างการเก็บรักษาทุก 10 วัน ทำการย้ายผลส้มโอมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 25oC นาน 3 วัน โดยตรวจสอบคุณภาพดังต่อไปนี้ ปริมาณก๊าซออกซิเจน (O2) และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ภายในผลส้มโอ% การสูญเสียน้ำหนัก ค่าของสีเปลือก อัตราส่วนปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้ (Total Soluble Solids; TSS)และปริมาณกรดที่ไตเตรทได้ (Titratable Acidity; TA) ปริมาณวิตามินซี ปริมาณสารประกอบฟีนอลทั้งหมด พบว่าการเคลือบผลส้มโอพันธุ์ดีด้วยสาร Citrolsol AK มีปริมาณก๊าซ O2 น้อยที่สุด (4-8%O2) และ CO2 มากที่สุด (9%CO2) รองลงมาได้แก่ Honra (12%O2 และ 7%CO2) ซึ่งการเคลือบผลและถุงแอคทีฟสามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงสีเปลือกของส้มโอได้ แต่อย่างไรก็ตามผลส้มโอที่เคลือบด้วยสาร Citrosol AKมีการสูญเสียน้ำหนักไม่แตกต่างจากการไม่เคลือบผลและถุงแอคทีฟมีการสูญเสียน้ำได้น้อยที่สุด รองลงมาได้แก่ การเคลือบผลด้วยสาร Honra และการหุ้มด้วยฟิล์ม PVC ตามลำดับ การเก็บรักษาในสภาพบรรยากาศดัดแปลงไม่มีผลต่อปริมาณ TSS/TAและ TA แต่พบว่า ส้มโอในชุดควบคุมมีปริมาณวิตามินซีและสารประกอบฟีนอลมากที่สุด หลังการเก็บรักษานาน 50 และ 60 วัน