การศึกษาลักษณะทางกายภาพและอัตราการดูดน้ำของเมล็ดพันธุ์ในพืชตระกูลCurcubitaceae 3 พันธุ์
เดือนเต็ม ลอยมา ทรงศิลป์ พจน์ชนะชัย ภาณุมาศ ฤทธิไชย และจิตจำนง ทุมแสน
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 39 ฉบับที่ 3 (พิเศษ). 2551. หน้า 377-380.
2551
บทคัดย่อ
การศึกษาลักษณะทางกายภาพและอัตราการดูดน้ำของเมล็ด Benincasa hispida (Thumb.) Cogn. พันธุ์แฟงและฟักเขียว และเมล็ดพันธุ์ฟักทอง (Cucurbita moschata (Duchesne ex. Lam.) Duch. ex. Poiret พันธุ์ยูนิซีด พบว่าเมล็ดพันธุ์ฟักทองมีน้ำหนัก 1000 เมล็ด (92.79 กรัม) หนักกว่าเมล็ดพันธุ์ฟักเขียว (40.47 กรัม) และแฟง (30.03 กรัม) และมีขนาดของเมล็ด (ความกว้าง×ความยาว×ความหนา) ใหญ่ที่สุดคือ 7.82×15.33×2.27 มิลลิเมตรรองลงคือ เมล็ดพันธุ์ฟักเขียว (6.27×12.03×2.14 มิลลิเมตร) และเมล็ดพันธุ์แฟง (4.90×9.33×1.79 มิลลิเมตร) ตามลำดับ อย่างไรก็ตามเปลือกของเมล็ดพันธุ์ฟักทองมีความหนา 0.12 มิลลิเมตรซึ่งบางกว่าเมล็ดพันธุ์แฟงและฟักเขียว (0.38 และ 0.51 มิลลิเมตรตามลำดับ) สีเปลือกของเมล็ดพันธุ์แฟงและฟักเขียวมีสีเหลืองอ่อนปนเทา (b*=ประมาณ 20.00) แต่เมล็ดพันธุ์ฟักทองมีสีขาวปนเหลืองอ่อน (b*=18.61)ส่วนสีเยื่อหุ้มคัพภะของเมล็ดพันธุ์ฟักทองมีสีเขียวเข้มซึ่งแตกต่างจากสีเยื่อหุ้มคัพภะของเมล็ดพันธุ์แฟงและฟักเขียวที่มีสีเหลืองอ่อน และเมื่อนำเมล็ดทั้ง 3 พันธุ์ ที่มีความชื้นเริ่มต้นใกล้เคียงกัน (ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์) มาศึกษาอัตราการดูดน้ำพบว่า เมล็ดพันธุ์แฟงสามารถดูดน้ำได้เร็วกว่า และถึงจุดอิ่มตัวภายในระยะเวลาเพียง 40 นาที เมื่อเปรียบเทียบกับเมล็ดพันธุ์ฟักเขียวและเมล็ดพันธุ์ฟักทองที่ถึงจุดอิ่มตัวช้ากว่า