ผลของสภาพการเก็บรักษาต่อคุณภาพและปริมาณน้ำมันของเมล็ดพันธุ์งาขี้ม้อนที่ปลูกในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย
ศิริวรรณ อำพันฉาย สุรัตน์ นักหล่อ ประวิตร พุทธานนท์ เพิ่มศักดิ์ สุภาพรเหมินทร์ และ วราภรณ์ จำปา
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 39 ฉบับที่ 3 (พิเศษ). 2551. หน้า 421-424.
2551
บทคัดย่อ
การศึกษาผลของสภาพการเก็บรักษาต่อคุณภาพและปริมาณน้ำมันของเมล็ดพันธุ์งาขี้ม้อนที่ปลูกในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ใช้เมล็ดพันธุ์จำนวน 4 ตัวอย่าง ที่มีการปลูกในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม และเก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤศจิกายน 2549 นำมาทดลองที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยแบ่งเป็น 2 การทดลอง คือ การทดลองที่ 1 ศึกษาคุณภาพและปริมาณน้ำมันของเมล็ดพันธุ์งาขี้ม้อน 4 ตัวอย่าง จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน น่านและพะเยาพบว่าแหล่งพันธุ์น่าน ให้เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพสูง โดยมีความชื้นต่ำ 7.13% ความบริสุทธิ์ของเมล็ดสูง 99.63% ค่าการนำไฟฟ้าต่ำ 10.21 ไมโครซีเมนต์/กรัม ขณะที่แหล่งพันธุ์แม่ฮ่องสอน มีปริมาณน้ำมันสูง 44.91% การทดลองที่ 2 ศึกษาผลของสภาพการเก็บรักษา 2 สภาพได้แก่ ห้องเย็น (15ºC/45%RH) และห้องปกติ (27 ºC/70%RH) ต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์งาขี้ม้อนที่เก็บรักษาเป็นระยะเวลา 8 เดือน พบว่าเมล็ดที่เก็บรักษาในห้องเย็นมีความงอกสูง 70% และความแข็งแรงสูงได้แก่ ค่าการนำไฟฟ้าต่ำ 48.98 ไมโครซีเมนต์/กรัม และมีการลดลงของปริมาณน้ำมันต่ำกว่า เมล็ดที่เก็บรักษาในห้องปกติ