บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสารเคลือบเมล็ดต่อคุณภาพและการป้องกันโรคราน้ำค้างของข้าวโพดหวานพิเศษ

ปิยะนุช เทียงดีฤทธิ์ และบุญมี ศิริ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 39 ฉบับที่ 3 (พิเศษ). 2551. หน้า 425-428.

2551

บทคัดย่อ

ผลของสารเคลือบเมล็ดต่อคุณภาพและการป้องกันโรคราน้ำค้างของข้าวโพดหวานพิเศษ

การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเคลือบเมล็ดต่อคุณภาพและการป้องกันโรคราน้ำค้างหลังการเคลือบ  และการเก็บรักษา  เคลือบเมล็ดด้วยเครื่องเคลือบรุ่น SKK 08 ที่โรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์  คณะเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ทำการเคลือบเมล็ด 13วิธีการคือ 1.เมล็ดไม่เคลือบสาร, 2.เมล็ดคลุกด้วย metalaxyl, 3.เมล็ดเคลือบสี, 4.เมล็ดเคลือบ polymer, 5.เมล็ดเคลือบ polymerผสม metalaxyl3.5 cc, 6.เมล็ดเคลือบ polymerผสม metalaxyl5.0 cc, 7.เมล็ดเคลือบ polymerผสม metalaxyl7.0 cc,8.เมล็ดเคลือบ polymerผสม ethaboxam 0.25%,9.เมล็ดเคลือบ polymerผสม ethaboxam 0.5%,10. เมล็ดเคลือบ polymerผสม ethaboxam 0.7%,11.เมล็ดเคลือบ polymerผสม aliette0.25%, 12. เมล็ดเคลือบ polymerผสม aliette0.5 %และ เมล็ดเคลือบ polymerผสม aliette0.7%หลังจากเคลือบเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเคลือบตำรับต่าง ๆ พบว่าสารเคลือบหลายตำรับทำให้ความงอกของเมล็ดพันธุ์ที่เพาะในห้องปฏิบัติการและใน แปลงปลูกไม่มีความแตกต่างในทางสถิติกับเมล็ดที่ไม่เคลือบสารทั้งพันธุ์ที่ 1 และ 2 และบางตำรับทำให้เปอร์เซ็นต์ความงอกสูงกว่าเมล็ดไม่เคลือบสาร สำหรับความเร็วในการงอกของพันธุ์ที่ 1 พบว่า สารเคลือบทุกตำรับทำให้ความเร็วในการงอกมีแนวโน้มต่ำกว่าเมล็ดไม่เคลือบสาร แต่พันธุ์ที่ 2 กลับพบว่า ความเร็วในการงอกมีแนวโน้มสูงกว่าเมล็ดไม่เคลือบสาร โดยเฉพาะเมล็ดที่เคลือบด้วยสีผสมอาหาร (T3), เมล็ดที่เคลือบด้วยพอลิเมอร์ผสม ethaboxam 0.25% (T8) และ ethaboxam 0.5% (T9) ซึ่งมีความแตกต่างในทางสถิติกับเมล็ดที่ไม่เคลือบสารอย่างมีนัยสำคัญยิ่งและพบว่าเมล็ดที่เคลือบด้วยพอลิเมอร์ผสม ethaboxam 0.5 %และ 0.7 % สามารถป้องกันโรคราน้ำค้างได้ดีกว่ากรรมวิธีอื่น ๆ