บทคัดย่องานวิจัย

ความเป็นไปได้ในการใช้วัสดุเคลือบผิวเมล็ดพันธุ์ชีวะภาพเพื่อการพัฒนาการ ปลูกข้าวในระบบนาหว่าน: ศึกษาผลต่อศักยภาพการให้ผลผลิต และสารตกค้างต่อสิ่งแวดล้อม

ปิติพงษ์ โตบันลือภพ Elke Pawelzik และ สุชาดา เวียรศิลป์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 39 ฉบับที่ 3 (พิเศษ). 2551. หน้า 449-452.

2551

บทคัดย่อ

ความเป็นไปได้ในการใช้วัสดุเคลือบผิวเมล็ดพันธุ์ชีวะภาพเพื่อการพัฒนาการ ปลูกข้าวในระบบนาหว่าน: ศึกษาผลต่อศักยภาพการให้ผลผลิต และสารตกค้างต่อสิ่งแวดล้อม

โรคเมล็ดพันธุ์และโรคทางดินเป็นปัญหาสำคัญสำหรับการปลูกข้าวในระบบการหว่าน การใช้เทคโนโลยีการเคลือบเมล็ดพันธุ์สามารถควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคพืช และส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชได้ การศึกษาครั้งนี้เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้สารเคลือบเมล็ดพันธุ์จากธรรมชาติในการปลูกข้าวขาวมะลิ 105 ในระบบการหว่าน โดยทดสอบแบบสุ่มสมบูรณ์ภายใต้สภาพแปลงปลูก เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของสารเคมีคลุกเมล็ดพันธุ์ (captan, CA) และสารเคลือบเมล็ดพันธุ์ชีวะภาพ ได้แก่ สารไคโตซาน (CL) และสารไคโตซานผสมสารสกัดจากกานพลู (E+CL) ผลการทดสอบพบว่า CL และ E+CL สามารถส่งเสริมการงอก การพัฒนาของต้นอ่อน การเจริญเติบโต และเพิ่มผลผลิต นอกจากนั้น CL และ E+CL สามารถควบคุมการเกิดโรคพืชในระยะกล้า และระยะการติดเมล็ดได้ซึ่งไม่แตกต่างทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สารเคมีแคปแทนในการคลุกเมล็ดพันธุ์ แต่ทั้งนี้การใช้สารเคมีแคปแทนนั้นมีผลต่อการตกค้างของสารเคมีทั้งในดิน และในเมล็ดข้าวซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ดังนั้น สารเคลือบเมล็ดพันธุ์ชีวะภาพ E+CL จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาระบบการปลูกข้าวขาวมะลิอินทรีย์โดยระบบการหว่านได้