บทคัดย่องานวิจัย

การตายของเซลล์โดยกำหนดช่วงการชราภาพของดอกกล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium) ที่ถูกกระตุ้นโดยเอทิลีน

กาญจนา กิระศักดิ์ สายชล เกตุษา และ วชิรญา อิ่มสบาย

บทคัดย่อ การสัมมนาวิชาการวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 6, โรงแรมเจริญธานี ปริ๊นเซส จังหวัดขอนแก่น, 14-15 สิงหาคม 2551. 182 หน้า.

2551

บทคัดย่อ

การตายของเซลล์โดยกำหนดช่วงการชราภาพของดอกกล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium) ที่ถูกกระตุ้นโดยเอทิลีน

ดอกกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์ลักกี้ดวนเป็นพันธุ์ที่ไวต่อเอทิลีน เมื่อได้รับเอทิลีนความเข้มข้นที่เหมาะสมคือ 0.4 ไมโครลิตรต่อลิตร เป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส และพันธุ์เรดบอมโจเป็นพันธุ์ไม่ไวต่อเอทิลีน ซึ่งพันธุ์ไวมองเห็นการเหี่ยวของกลีบดอกชัดเจนหลังได้รับเอทิลีนเพียง 24 ชั่วโมง (D0) และสาร 1-MCP (1-methylcyclopropene) สามารถยับยั้งการชราภาพของกล้วยไม้พันธุ์ลักกี้ดวนได้ เมื่อทำตัดภาคตขวางของดอกพันธุ์ที่ไวต่อเอทิลีน พบการเปลี่ยนแปลงของชั้นเซลล์ภายใต้กล้อง light microscopy (LM) โดยมีโซฟิลฉีกขาดเห็นเป็นช่องว่างขนาดใหญ่ชัดเจนหลังการให้เอทิลีนวันที่ 5 แต่ชั้นเซลล์อิพิเดอมิสเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย และสามารถยืนยันผลการทดลองได้เมื่อดูภายใต้กล้อง scanning electron microscopy (SEM) สำหรับออแกเนล ที่ส่องดูภายใต้กล้อง transmission electron microscopy (TEM) พบว่า ผนังเซลล์บางลง และเยื่อหุ้มเซลล์แยกตัวจากผนังเซลล์อย่างชัดเจน ไมโตคอนเดรียและนิวเคลียสแสดงอาการผิดปกติ ผนังนิวเคลียสแตก แวคิโอลขยายใหญ่ขึ้น ไม่พบไรโบโซมและเอนโดพลาสมิกเรกติคิวลัม ในวันที่ 5 หลังจากกล้วยไม้ลักกี้ดวนได้รับเอทิลีน ส่วนไมอีลินบอดี้สร้างขึ้นมากในกสีบดอกที่ได้รับเอทิลีน เอนไซม์ดีเอนเอส มีกิจกรรมเพิ่มขึ้นหลังได้รับเอทิลีน 24 ชั่วโมง ในวันที่ 20 พบแถบดีเอนเอที่แตกหักจะเกิดเพิ่มขึ้นมากตามเวลาที่เก็บดอกไม้ไว้นานในกล้วยไม้ที่ไม่ได้รับเอทิลีน แต่ในกลีบดอกได้รับเอทิลีนเห็นแถบดีเอนเอที่แตกหักลดลงเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เก็บดอกไม้ไว้นานวันขึ้น