การวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อระบบโลจิสติกส์ของการผลิตข้าว อินทรีย์
เชฎฐา ชำนาญหล่อ และ กาญจนา เศรษฐนันท์
การประชุมวิชาการสมาคมวิศวกรรมเกษตร แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 8 ประจำปี 2550,โรงแรมโซฟิเทล ราชาออร์คิด จ.ขอนแก่น,22-24 มกราคม 2550. 204 หน้า.
2550
บทคัดย่อ
ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าว ที่สำคัญของโลก เนื่องจากมีการผลิตข้าวมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่อดีต อีกทั้งพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ภายในประเทศก็เหมาสมกับการปลูกข้าว ซึ่งในปัจจุบันการเพาะปลูกข้าวอินทรีย์เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นตามลำดับ เนื่องจากเป็นแนวทางการผลิตที่เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายการผลิตอาหาร ปลอดภัย (Food Safety) สำหรับตลาดโลกในขณะนี้ อย่างไรก็ดี ต้นทุนในการผลิตข้าวอินทรีย์ของเกษตรกรส่วนใหญ่ภายในประเทศสูงมาก เนื่องจากการผลิต การจัดการ และโครงสร้างพื้นฐานยังไม่สามารถรองรับการส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้เกษตรกรผู้ผลิตได้รับผลตอบแทนต่ำและไม่สามารถพัฒนาการเพาะปลูกให้ มีคุณภาพได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทำให้โรงสีไม่สามารถแปรรูปข้าวอินทรีย์ได้อย่างคุ้มค่าต่อการลงทุน ประกอบกับความผันแปรของตลาดโลกทำให้การส่งออกข้าวอินทรีย์มีความเสี่ยงสูง บทความนี้จึงนำเสนอการวิเคราะห์สถานการณ์ของระบบโลจิสติกส์ของการผลิตข้าว อินทรีย์ของไทย ตั้งแต่การผลิต การบริหารจัดการ โครงสร้างพื้นฐาน การเก็บรักษา การขนส่ง และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้เกี่ยวข้อง อันประกอบด้วย ผู้ผลิต ผู้รวบรวม ผู้แปรรูป และผู้ส่งออกข้าวอินทรีย์ ซึ่งจะทำให้ทราบถึงการเชื่อมโยงกันทั้งหมดของระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ของไทย และสามารถกำหนดแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของการผลิตข้าวอินทรีย์ของไทยอย่างมี ระบบแบบแผน ตั้งแต่การผลิตในระดับฟาร์มให้มีคุณภาพ การสร้างรากฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ภายในประเทศให้มีความมั่นคง รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพการส่งออกของข้าวอินทรีย์ให้ดียิ่งขึ้น