การพัฒนาและปรับปรุงเครื่องนวดข้าวเพื่อใช้กะเทาะข้าวโพดทั้ง เปลือก
สาทิศ เวณุจันทร์ และ จารุวัฒน์ มงคลธนทรรศ
การประชุมวิชาการสมาคมวิศวกรรมเกษตร แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 8 ประจำปี 2550,โรงแรมโซฟิเทล ราชาออร์คิด จ.ขอนแก่น,22-24 มกราคม 2550. 204 หน้า.
2550
บทคัดย่อ
ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุง เครื่องนวดข้าว ขนาด 5ฟุตซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย เพื่อกะเทาะข้าวโพดทั้งเปลือก โดยระบบนวดข้าวมีคุณลักษณะ คือ ลูกนวดมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 18 นิ้วมีซี่ฟันลูกนวดจำนวน 8 แถว ความยาวฟันลูกนวดตัวสั้นยาว 2.5 นิ้วและตัวยาว 3 นิ้วโดยมีจำนวนฟันลูกนวดทั้งหมด 136 ตัว ระยะห่างระหว่างปลายฟันลูกนวดตัวสั้นกับตะแกรงล่างรอบลูกนวด (Concave Clearance) 49 มิลลิเมตรและ 36 มิลลิเมตรสำหรับฟันลูกนวดตัวยาว บนตะแกรงล่างรอบลูกนวดมีฟันลูกนวดติดอยู่ทั้งหมด 8 ตัว ส่วนตะแกรงรอบลูกนวดด้านบนมีครีบวงเดือนทั้งหมด 4 ตัว จากการศึกษาและทดสอบพบว่า เครื่องนวดข้าวสามารถกะเทาะข้าวโพดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีการปรับปรุงดังนี้ คือ ลดจำนวนฟันลูกนวดออกจำนวน 5 ตัวต่อแถว โดยการถอดสลับตัวเว้นตัว รวมทั้งหมด 40 ตัว ลดจำนวนฟันลูกนวดที่ติดบนตะแกรงล่างเหลือเพียง 2ตัว ที่บริเวณใกล้ช่องทางออก บนตะแกรงล่างรอบลูกนวดเพิ่มแผ่นกั้นเมล็ด ซึ่งช่างในท้องถิ่นเรียกว่า “หวีทอง” จำนวน 2ตัวปลายทางออกเปลือกและซังข้าวโพด และลดจำนวนครีบวงเดือนในช่วงช่องป้อนออก 1ตัว และช่วงกลาง 1ตัว โดยต้องมีการปรับมุมครีบวงเดือนตัวท้ายสุดจากปกติเป็นมุมตั้งฉากกับลูกนวด ผลการทดสอบกะเทาะข้าวโพดที่มีความชื้นเมล็ดเฉลี่ย 29.22% มาตรฐานเปียก ที่ความเร็วรอบลูกนวดขณะไม่มีโหลด 600 รอบต่อนาที พบว่า อัตราการทำงานที่ได้ 4,722 กิโลกรัมต่อชั่วโมง โดยมีการสูญเสียรวมเพียง 0.39%