ผลของวิธีการลดความชื้น และระยะเวลาการเก็บรักษาต่อคุณภาพการขัดสีและความหอมของข้าวดอกมะลิ 105
บุญมี ศิริ, สุกัญญา วงศ์พรชัย, ศักดิ์ดา จงแก้ววัฒนา และศิริพร ศรีล้อม
การสัมมนาวิชาการเกษตรแห่งชาติประจำปี 2547, ณ ห้องประชุมกวี จุติกุล คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 573 หน้า.
2547
บทคัดย่อ
การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของวิธีการลดความชื้นข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่มีต่อเปอร์เซ็นต์ต้นข้าวและดรรชนีความขาวและกลิ่นหอมของข้าว โดยใช้วิธีการลดความชื้น 6วิธี คือ การใช้เครื่องลดความชื้นชนิดลมแห้งอุณหภูมิ 2ระดับ (30 และ 40°ซ) เครื่องลดความชื้นชนิดลมร้อนใช้อุณหภูมิ 3ระดับ (40, 50 และ 70°ซ) และการตากแดด หลังจากลดความชื้นแล้ว ตรวจวัดเปอร์เซ็นต์ต้นข้าว และค่าดรรชนีความขาวของข้าว จากนั้นบรรจุข้าวเปลือกลงในถุงพลาสติกสาน เก็บรักษาไว้ในห้องที่ไม่ควบคุมสภาพแวดล้อมนาน 11เดือน โดยทุกๆ เดือนสุ่มตัวอย่างข้าวเปลือกมาตรวจสอบเปอร์เซ็นต์ต้นข้าวและดรรชนีความขาว ผลจากการทดลองพบว่า การใช้เครื่องลดความชื้นชนิดลมแห้ง และการลดความชื้นชนิดลมร้อน (อุณหภูมิ 40 และ 50°ซ) ทำให้มีเปอร์เซ็นต์ต้นข้าวดรรชนีความขาวและกลิ่นหอมมากกว่าการใช้เครื่องลดความชื้นชนิดลมร้อน (อุณหภูมิ 70°ซ) และวิธีการ ตากแดด เมื่อเก็บรักษาข้าวเปลือกไว้นานมากขึ้นทำให้เปอร์เซ็นต์ต้นข้าวดรรชนีความ ขาวและกลิ่นหอมลดลงทุกวิธีการลดความชื้นแต่การลดความชื้นด้วยลมแห้ง และการลดความชื้นด้วยลมร้อน (อุณหภูมิ 40, 50°ซ)ยังคงค่าเปอร์เซ็นต์ต้นข้าวและดรรชนีความขาวและกลิ่นหอมมากกว่าการลดความชื้นด้วยลมร้อน อุณหภูมิ 70°ซ และวิธีการตากแดด