การคัดเลือกเชื้อแบคทีเรียจากผิวของผลสตรอเบอรี่ มะม่วง และส้มเพื่อควบคุมโรคแอนแทรคโนสที่เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum spp. โดยชีววิธี
ธนวันต์ กันทา
วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2548. 96 หน้า.
2548
บทคัดย่อ
จากการแยกเชื้อแบคทีเรียจากผิวของผลสตรอเบอรี่ มะม่วง และส้มที่ไม่เป็นโรค และไม่ใช้สารเคมี เพื่อควบคุมโรคแอนแทรคโนสที่เกิดจากเชื้อรา Colletotrichumspp. โดยชีววิธี สามารถแยกเชื้อแบคทีเรียได้ทั้งหมด 140ไอโซเลท จากสตรอเบอรี่ 42 ไอโซเลท, มะม่วง 48 ไอโซเลท และส้ม 50ไอโซเลท ตามลำดับ
เมื่อนำเชื้อแบคทีเรียที่ได้มาทดสอบความสามารถในการยับยั้งการเจริญกับเชื้อราColletotrichumspp.สาเหตุโรคแอนแทรคโนสของสตรอเบอรี่ มะม่วง ส้ม และกล้วยโดยวิธี dual culture พบเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ 3
ไอโซเลท คือ 104, 125 และ 228ที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Colletotrichum spp.สาเหตุโรคแอนแทรคโนสของผลไม้ทั้ง 4ชนิด ซึ่งมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อสาเหตุสูงสุด คือ 43.89% และต่ำสุด คือ 35.28% เมื่อนำเชื้อราColletotrichum spp. เลี้ยงร่วมกับเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ในจานอาหารเลี้ยงเชื้อ พบว่าทำให้เกิดความผิดปกติต่างๆ ของเส้นใย เช่น ผนังหนา โป่งพอง ขยายใหญ่ บิดเบี้ยวผิดปกติ และไม่มีการสร้างสปอร์ เมื่อวิเคราะห์ชนิดของแบคทีเรียทั้ง 3ไอโซเลท (ไอโซเลท 104, 125 และ 288) ในห้องปฏิบัติการ โดยการศึกษาคุณสมบัติทางสัณฐานวิทยา และชีวเคมี พบว่า ทั้ง 3ไอโซเลทอยู่ใน genus Bacillus
ได้คัดเลือกแบคทีเรียปฏิปักษ์3ไอโซเลทที่ได้จากการทดสอบความสามารถในการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Colletotrichum spp.ทุกไอโซเลทในห้องปฏิบัติการ มาทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมโรคแอนแทรคโนสกับผลไม้ทั้ง 4ชนิด ได้แก่ สตรอเบอรี่ มะม่วง ส้ม และกล้วย โดยฉีดพ่นด้วยแบคทีเรียปฏิปักษ์ทั้งก่อนและหลังฉีดพ่นเชื้อรา Colletotrichum spp.ที่ 3, 5 และ 7วัน พบว่า การฉีดพ่นแบคทีเรียไอโซเลท 288ก่อนการฉีดพ่นเชื้อสาเหตุในสตรอเบอรี่ ส้ม และกล้วย สามารถลดเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคที่ 7วันได้ดีที่สุด คือ 8.75%, 8.75% และ 33.735% ตามลำดับเมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุมที่มีเปอร์เซ็นต์การเข้าทำลาย คือ 93.75%, 38.75% และ 100%ตามลำดับ ส่วนในมะม่วง พบว่า การฉีดพ่นแบคทีเรียไอโซเลท 104 ก่อนการฉีกพ่นเชื้อสาเหตุมีประสิทธิภาพดีที่สุด คือ 12.50% เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุมที่มีเปอร์เซ็นต์การเข้าทำลาย 80.00%
จากผลการศึกษา แสดงให้เห็นว่าเชื้อ Bacillusไอโซเลท 288 และ 104 มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคแอนแทรคโนสที่เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum spp.ของผลไม้ทั้ง 4ชนิดได้ดี อย่างไรก็ตามแบคทีเรียปฏิปักษ์จากผิวเหล่านี้คงไม่เพียงแต่มีกลไกในการควบคุมโรคดังที่อธิบายข้างต้น แต่เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ยังต้องอยู่คงทนและอยู่ร่วมในสภาพแวดล้อมได้จริง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มขึ้นเพื่อการพัฒนาปรับปรุงต่อไป