การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานด้วยวิธีการต่างกันในเขตร้อนชื้น
จตุพร ไกรถาวร
วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาพืชศาสตร์) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 2547. 92หน้า
2547
บทคัดย่อ
การศึกษาการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานในเขตร้อนชื้น เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย ทำที่ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานพันธุ์ลูกผสมอินทรี-2ที่ความชื้น 8.3% และเมล็ดพันธุ์ลูกผสมเปิดพันธุ์ไทยซุปเปอร์สวีทเบอร์ 1ดีเอ็มอาร์ ที่ความชื้น 11.0% เก็บรักษาโดยบรรจุถุงกระดาษหรือถุงพลาสติก เก็บไว้ในกล่องโฟมหรือกล่องกระดาษ ที่อุณหภูมิห้อง รวมทั้งการลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ให้เหลือประมาณ 8% โดยการตากแดดทุก 3เดือน และการปิดปากถุงพลาสติก ด้วยการผนึกปากถุงหรือรัดปากถุงด้วยยางรัด สุ่มตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษามาทดสอบคุณภาพที่อายุ 3 4 5 6 9 และ 12 เดือน เทียบกับเมล็ดพันธุ์ก่อนรักษาและเมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษาในห้องเย็นที่อุณหภูมิประมาณ 10° ซ พบว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานที่เก็บรักษาในห้องเย็น ตลอด 12เดือน มีความงอกไม่ต่ำกว่า 78.0% ที่บรรจุในถุงกระดาษ และ 87.5% ที่บรรจุในถุงพลาสติก การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานในถุงกระดาษในกล่องโฟม ที่อุณหภูมิห้อง ในเขตร้อนชื้น เมล็ดพันธุ์ลูกผสมอินทรี-2 สามารถเก็บรักษาได้นาน 5เดือน โดยมีความงอก 61.0% แต่เมล็ดพันธุ์ลูกผสมเปิดพันธุ์ไทยซุปเปอร์สวีทเบอร์ 1ดีเอ็มอาร์ มีความงอกเพียง 51.5% ตั้งแต่อายุการเก็บรักษา 3เดือน การตากเมล็ดทำให้เมล็ดพันธุ์ที่เก็บในถุงกระดาษเสื่อมคุณภาพเร็วขึ้น ส่วนการเก็บรักษาในถุงพลาสติก สามารถเก็บรักษาให้เมล็ดพันธุ์ลูกผสมอินทรี-2มีความงอกสูงกว่า 60.0% ได้นาน 9เดือน และการตากแดดเมล็ดพันธุ์ช่วยให้เมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษาในกล่องโฟม มีความงอกสูงกว่า 65.0% ได้นาน 12เดือน ในขณะที่การเก็บรักษาในกล่องกระดาษ ทำให้เมล็ดพันธุ์มีความงอกสูงกว่า 72.5% ได้นาน 9เดือน ส่วนเมล็ดพันธุ์ลูกผสมเปิดพันธุ์ไทยซุปเปอร์สวีทเบอร์ 1ดีเอ็มอาร์ เก็บรักษาในถุงพลาสติกในเขตร้อนชื้น คงความงอกประมาณ 60.0% ได้เพียง 3เดือน การปิดปากถุงพลาสติกด้วยการผนึกหรือการรัดด้วยยางรัดไม่มีผลแตกต่างกันต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานที่เก็บรักษา