บทคัดย่องานวิจัย

การพัฒนาวิธีการห่อหุ้มดอกบัวหลวง (Nelumbo nucifera Gaerth.)พันธุ์สัตตบุษย์เพื่อการส่งออก

สิริณัฐ วัฒน์ศรี และช.ณิฏฐ์ศิริ สุยสุวรรณ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 40 ฉบับที่ 3(พิเศษ). หน้า 299-302. 2552.

2552

บทคัดย่อ

การพัฒนาวิธีการห่อหุ้มดอกบัวหลวง (Nelumbo nucifera Gaerth.)พันธุ์สัตตบุษย์เพื่อการส่งออก

จากปัญหาธุรกิจการส่งออกดอกบัวหลวง พบว่า กลีบดอกช้ำและเกิดเชื้อราขึ้นกับดอกบัวหลวงในระหว่างขนส่งและการตลาด ดังนั้น  จึงทำการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นข้างต้น การทดลองได้แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 ทำการตรวจหาชนิดของเชื้อราและความเข้มข้นที่เหมาะสมของสารป้องกันและกำจัด เชื้อราที่ช่วยลดความรุนแรงของโรคที่เกิดจากเชื้อราดังกล่าว ผลปรากฏว่า พบเชื้อรา  Cladosporium cladosporioides บนยอดเกศรตัวเมีย และ benomyl 50% W.P. ที่ระดับความเข้มข้น 1,000 ppm เป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่ช่วยลดความรุนแรงของเชื้อรา ขั้นตอนที่ 2 เปรียบเทียบวัสดุห่อหุ้มดอกร่วมกับวิธีใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อรา โดยวางแผนการทดลองแบบ 3 x 2 factorial in CRD ประกอบด้วย 2 ปัจจัย คือ ปัจจัย A (วิธีการห่อหุ้มดอก) ได้แก่ A1 คือการห่อหุ้มดอกด้วยโฟมตาข่าย:A2 คือ การห่อหุ้มดอกด้วยฟิล์ม PVC ร่วมกับโฟมตาข่าย และ A3คือการห่อหุ้มดอกด้วยฟิล์มแอคทีฟร่วมกับโฟมตาข่าย สำหรับปัจจัย B(การใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อรา)  ได้แก่ B1 คือวิธีการควบคุม: การไม่พ่นสารป้องกันและกำจัดเชื้อรา  และ B2  คือการพ่น benomyl 50% W.P. ที่ระดับความเข้มข้น 1,000 ppm ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุดจากขั้นตอนที่ 1  ผลปรากฏว่า วิธีการห่อหุ้มดอกด้วยวัสดุต่างๆร่วมกับการพ่นสารป้องกัน และกำจัดเชื้อรา ไม่มีความสัมพันธ์กันทางสถิติในเรื่องคุณภาพของอายุการปักแจกัน แต่พบว่า การห่อหุ้มดอกด้วยฟิล์มแอคทีฟร่วมกับโฟมตาข่าย เป็นวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการส่งดอกบัว เนื่องจากเป็นวิธีการที่ทำให้อายุการปักแจกันนานที่สุด คือ 3.25 วัน ในการทดลองครั้งนี้จะพบเชื้อราเมื่อปักแจกันไปแล้ว 4 วัน ซึ่งเป็นวันที่ดอกเริ่มเสื่อมสภาพแล้ว